19 สิงหาคม 2552

ตัดปมปัญหาของประเทศไทย

Cut the Gordian Knot (มิใช่ตัดกรรม แต่เป็นการตัดปมปัญหาของประเทศไทย)

โดย รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง,รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย 19 สิงหาคม 2552 17:29 น.


ผู้นำที่แท้จริงบางครั้งก็ต้องใช้การตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวและเด็ดขาด “ฟันฉับ” เพื่อแก้ปมเงื่อนวิกฤตต่างๆ ที่ซับซ้อนยุ่งเหยิงให้ขาดออกในคราวเดียวดังสำนวน Cut the Gordian Knot ซึ่งในเชิงคติพจน์อาจหมายความได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยากที่จะแก้ไขได้ด้วยการกระทำที่หนักแน่นเพียงครั้งเดียว ดุจดังตำนานการแก้ปมเชือกที่ผูกไว้อย่างยุ่งยากของกอร์ดิอุส (Gordius)โดยจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่อย่างอเล็กซานเดอร์มหาราช(Alexander the Great) ที่ใช้ดาบฟันปมเชือกที่กอร์ดิอุสผูกไว้เพียงครั้งเดียวก็คลี่คลาย และเป็นไปดังคำทำนายว่าผู้ใดสามารถแก้ปมเชือกนี้ได้จะได้เป็นผู้พิชิตเอเชีย

ปมปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้ที่มีความยุ่งยากไม่แพ้ปมของกอร์ดิอุสก็เนื่องมาจากทักษิณ ชินวัตรที่ได้สร้างกรรมและสร้างปมปัญหาของประเทศไทยให้ยุ่งยากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

แถลงการณ์ของทักษิณ ชินวัตร ฉบับที่4/52 ที่เผยแพร่ตามสื่อสารมวลชนและเว็บไซต์ต่างๆ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่าปมปัญหาของประเทศในขณะนี้เป็นอย่างไร

ผม (ทักษิณ ชินวัตร- ผู้เขียน) ขอ เรียนว่า ผมไม่ใช่ผู้หนีคดี เพราะผมไม่ยอมรับการกระทำรัฐประหาร ผมไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยบุคคลเหล่านี้ ผมไม่ยอมรับการยัดเยียดข้อกล่าวหาของผู้ยึดอำนาจ ผมไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมที่คณะผู้ยึดอำนาจหยิบยื่นให้

ประชาชน ทั้งประเทศทราบดีว่าการซื้อที่ดินรัชดาฯ นั้น ได้ซื้อโดยการยื่นประมูลราคาสูงสุดต่อกองทุนฟื้นฟูฯ ผมในฐานะนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจใดๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ซื้อ การประมูลได้กระทำโดยสุจริต เพราะหน่วยงานของรัฐได้ยืนยันว่าภรรยานายกฯ สามารถยื่นประมูลเพื่อสู้ราคาได้ เรื่องนี้ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ก็มีการบิดเบือนว่าผมทุจริต ซึ่งเป็นความเท็จ

ประเทศไทยยากที่จะเดินหน้าต่อไปได้ถ้าไม่มีความปรองดองของคนในชาติ ความปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ายังไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริงและความยุติธรรมในสังคม และความยุติธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ามีการใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียมและ เลือกปฏิบัติ เพราะขณะนี้กลไกของรัฐได้ตีความและใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือทำลายผู้ เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองเท่านั้น ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงเป็นที่ประจักษ์ของคนในสังคม


ประเด็นปัญหาที่แท้จริงของทักษิณ ชินวัตรก็คือการไม่ยอมรับอำนาจของประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจอย่างแท้จริงผ่านช่องทางอำนาจอื่นๆ เช่น ทางศาล หรือ ทางนิติบัญญัติ ที่มิใช่แต่เพียงการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ทักษิณ ชินวัตร จะไม่ยอมรับอำนาจที่มาจากรัฐประหาร เพราะไม่ว่าประชาชนคนไหนก็ไม่ยอมรับด้วยกันทั้งนั้น แต่คดีที่ดินรัชดาฯ ที่ถูกฟ้องร้องและตัดสินไปเรียบร้อยแล้วนั้นได้ดำเนินการภายใต้อำนาจที่ปวงชนชาวไทยได้มอบอำนาจไว้ให้กับผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นอัยการ หรือศาล ภายใต้กฎหมายที่กำหนดโดยกติกาสูงสุดคือรัฐธรรมนูญมิใช่หรือ?

ไม่มีผู้ใดจะขัดขวางหรือไม่ยอมรับอำนาจนี้ได้ เพราะปวงชนชาวไทยได้ตกลงปรองดองกันแล้วมิใช่หรือว่าจะยึดถือกติกาดังที่ว่านี้ มิเช่นนั้นประเทศไทยก็จะไม่มีนิติรัฐและจะไม่แตกต่างจากประเทศเผด็จการทั้งหลายในโลก

ประชาชนโดยทั่วไปจึงทราบเป็นอย่างดีว่าโดย กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 100 ที่มีมาก่อนทักษิณ ชินวัตรเข้าสู่อำนาจและใช้บังคับกับทุกคนมิใช่แต่เพียงทักษิณ ชินวัตรแต่เพียงคนเดียว เพราะไม่ต้องการให้เกิดการขัดกันของผลประโยชน์จึงห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งรวมถึงทักษิณ ชินวัตรด้วยในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีตำแหน่งสูงสุดเป็นคู่สัญญาทำธุรกิจการค้ากับรัฐ เนื่องจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเอื้อประโยชน์ให้เมียเข้ามาซื้อขายที่ดินในราคาที่รัฐเสียประโยชน์ได้โดยง่าย

คตส. แม้ว่าจะเป็นหน่วยงานที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร แต่ก็ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินลงโทษ เพียงแต่รวบรวมหลักฐานข้อเท็จจริงที่หน่วยงานอื่นๆ ไม่กล้าที่จะดำเนินการ เช่น การตรวจสอบว่าในขณะที่มีการซื้อขายที่ดินดังกล่าวทักษิณ ชินวัตรยินยอมให้เมียไปซื้อหรือไม่ สถานการณ์จดทะเบียนของทั้ง 2 คนยังครบถ้วนสมบูรณ์ในเวลาดังกล่าวหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงหรือกำหนดราคากลางหรือไม่อย่างไร ทั้งหมดนี้ก็เพื่อส่งให้ศาลวินิจฉัย เพียงแต่เมียเท่านั้นที่มิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ศาลจึงไม่สามารถลงโทษได้ในกฎหมายมาตรานี้ ทักษิณกำลังกล่าวเท็จอย่างร้ายกาจ

ด้วยความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐบาลตัวแทนของทักษิณก็ดี การก่อการจลาจลเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาก็ดี หรือการยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษโดยอ้างว่าเป็นสิทธิหรือเพื่อความปรองดองก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นความพยายามของทักษิณที่จะให้หลุดพ้นจากอำนาจของประชาชนที่ลงโทษคนที่เสพติดอำนาจและลืมตัวเช่นทักษิณ ชินวัตร เพราะหากไม่กระทำประเทศไทยก็ยากที่จะเดินหน้าต่อไปได้เพราะคนชั่วจะลอยนวล

ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไรหากมีความไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้นในสังคม คนที่ประพฤตินอกเหนือไปจากกติกาที่ตั้งไว้ไม่ถูกลงโทษ

ความถูกต้องและชอบธรรมจึงมิใช่ต้องมาจากจำนวนเหมือนเช่นที่ทักษิณ ชินวัตรพยายามที่จะกระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ มิเช่นนั้นแล้วเมื่อต้องมาขึ้นศาล บรรดาโจรที่ออกเสียงข้างมากให้ปล้นและฆ่าเจ้าทรัพย์ก็จะอ้างความเป็นประชาธิปไตยเพราะอาศัยเสียงข้างมากในหมู่โจรรับรองการกระทำผิดของตนเองเพื่อให้กลายเป็นความถูกต้องหรืออย่างไร

หากทักษิณ ชินวัตรไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ในสังคมนี้เพราะเห็นว่าไม่ถูกต้องแล้ว ทำไมไม่ต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมเช่นเดียวกับ รัฐบุรุษ เช่น เนลสัน แมนเดลลา หรือผู้ได้รับรางวัลโนเบล เช่น อองซาน ซูจี พวกเขาเหล่านั้นยอมติดคุกมากกว่า 10 ปีเพื่ออุดมการณ์และความถูกต้อง ทำไมทักษิณจึงเที่ยวฟ้องร้องคนอื่นๆโดยอาศัยกระบวนการเดียวกับที่ทักษิณกล่าวหาว่าไม่ยุติธรรม หรือทำไมทักษิณจึงยอมรับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อให้ตัวเองพ้นผิดจากข้อหาซุกหุ้นได้ทั้งๆ ที่มีข้อกังขาอย่างมากในวิธีการและคำตัดสิน ในขณะที่ศาลที่ตัดสินลงโทษทักษิณในคดีที่ดินรัชดาฯ ก็เป็นกระบวนการยุติธรรมในสังคมนี้เช่นกันที่พิจารณาคดีเช่นนี้มาแล้วกับคนอื่นๆ ไม่เชื่อก็ไปถาม นช.รักเกียรติก็ได้หากต่อไปทักษิณมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ด้วย

หรือความยุติธรรมที่ทักษิณสามารถยอมรับได้ก็คือตัวเองต้องถูกเสมอใช่หรือไม่?

นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังสามารถที่จะเป็นอเล็กซานเดอร์ผู้ยิ่งใหญ่ได้หากจัดลำดับความสำคัญปัญหาของชาติเสียใหม่และมีความเด็ดขาดพอ

สิ่งที่ได้รับรู้และประสบพบเห็นจากการดำเนินงานมากว่า 6 เดือนของรัฐบาลภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ก็คือความพยายามในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าการเมือง และเป็นการบริหารภายใต้สถานการณ์ปกติมากกว่าที่จะตระหนักว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะไม่ปกติ เป็นการวางน้ำหนักผิดด้าน

นายกฯ อภิสิทธิ์ยังฟันปมกอร์เดียนไม่ขาด ดังนั้นปัญหาของประเทศไทยจึงแก้ไขไม่ถูกทาง

เพราะหากต่อมรับรู้ปัญหาของนายกฯ อภิสิทธิ์ไม่เสียหรือบกพร่องก็ควรจะตระหนักได้ว่าปมปัญหาของประเทศในขณะนี้อยู่ที่การเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ และปมที่ว่านี้เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าต้องตัดที่ทักษิณ ชินวัตรเท่านั้นปัญหาของประเทศจึงจะคลี่คลาย ทำให้หลายๆ คนรวมทั้งผู้เขียนคาดคะเนผิดไปว่ารถด่วนสายประเทศไทยที่ควรออกจากสถานีทักษิณไปนานแล้ว แต่กลับไม่ได้ขยับไปไหนได้ไกลก็เพราะ พขร.อภิสิทธิ์นั่นเองที่ไม่เด็ดขาด

การเกิดจลาจลช่วงสงกรานต์จนทำให้ประเทศไทยไม่สามารถจัดประชุมสุดยอดอาเซียนได้และถูกปองร้ายไม่ว่าจะที่พัทยาหรือที่มหาดไทย หากยังไม่ทำให้นายกฯ อภิสิทธิ์รู้สึกถึงปัญหาที่ประเทศนี้เผชิญอยู่ได้ ก็ลองพิจารณาเพิ่มเติมดูว่าผลของการยื่นฎีกาขออภัยโทษให้ทักษิณ ชินวัตรสามารถดึงฟ้าให้ลงมาเป็นคู่กรณีกับประชาชนได้แล้วหรือไม่ และจะเป็นเงื่อนไขบั่นทอนความมั่นคงภายในประเทศต่อไปอย่างรุนแรงมากกว่าจะเป็นการปรองดองอย่างที่แอบอ้างหรือไม่

ความสำเร็จของฎีกาแดงจึงมิใช่อยู่ที่ได้ยื่นแล้วหรือไม่ หากแต่อยู่ที่ความสามารถในการดึงเอาประชาชนมาเป็นคู่กรณีกับสถาบันต่างหากซึ่งฝ่ายทักษิณได้กระทำสำเร็จแล้วตั้งแต่มีคนมาลงชื่อร่วมฎีกา แถมพรรคร่วมยังพยายามเดิมตามเกมที่เขาวางเอาไว้เอาจำนวนไปหักล้างเกทับกันอีก แล้วจะเกิดการปรองดองไปได้อย่างไร

ถ้าหากยังทำแบบนี้ เลี้ยงฝ่ายความมั่นคงไว้ก็เสียข้าวสุกเปล่าๆ

การรักษาความศักดิ์สิทธิ์หรือการบังคับใช้กฎหมายต่างหากจึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริงแต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำได้น้อยที่สุด

การแก้ไขปัญหาของนายกฯ อภิสิทธิ์ จึงเป็นการบริหารจัดการปัญหาในสิ่งที่ง่ายและตนเองถนัดก่อน ในลักษณะของสถานการณ์ปกติ อาจเป็นเพราะตัวเขายังมีอายุน้อยอยู่จึงสามารถยอมรับการเป็นฝ่ายค้านได้ในอนาคต การตัดสินปัญหาจึงเป็นไปในแบบรอมชอม ลูบหน้าปะจมูกแบบไทยๆ หรือประวิงประเด็นปัญหาหากสามารถกระทำได้ ไม่หนักแน่นและตรงประเด็นเหมือนดังเช่นที่ประชาชนผู้ที่ให้โอกาสอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์คาดหวังเอาไว้ ปัญหาที่แท้จริงและเป็นความเป็นความตายของประเทศจึงถูกละเลยไป

อย่าลืมว่าทักษิณ ชินวัตรกำลังเผชิญปัญหาในลักษณะของ “อยู่หรือตาย” โดยหลังชนฝาแล้ว ดังนั้นวิธีดำเนินการจึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และพอจะคาดเดาได้หรือไม่ว่าการกระทำของคนที่ต้องสู้เพื่อมีชีวิตรอดกับคนที่ทำไปวันๆ เช้าชามเย็นชาม อันไหนจะเข้มข้นและหวังผลลัพธ์มากกว่ากัน

ตัวอย่างที่ดีก็คือในประเด็นปัญหาเขาพระวิหารที่ไทยมีกับกัมพูชา จะเห็นได้ว่าผิดไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อประชาธิปัตย์และอภิสิทธิ์เป็นฝ่ายค้านที่อภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องนี้ เพราะฝ่ายไทยเป็นฝ่ายตั้งรับเสียทุกๆ เรื่องมาโดยตลอด มีแต่เพียงฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายรุกไล่เป็นหลัก สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสภาวะของปัญหาที่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศเผชิญอยู่แตกต่างกัน ฝ่ายกัมพูชาต้องสู้และต้องรุกเพราะเป็นผลประโยชน์ใหญ่ในอนาคตของประเทศตน ในขณะที่ฝ่ายไทยทำตัวเป็นลูกอาเสี่ยยุควิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ที่ไม่รู้ตัวว่าธุรกิจที่ตนเองรับดูแลมาจากบรรพบุรุษกำลังจะล่มสลายได้โดยง่ายจึง บริหารจัดการปัญหานี้ไปวันๆ ไม่มีใครพูดชัดถ้อยชัดคำว่าแม้แต่ 1 ตารางนิ้วก็ไม่ยอมเสีย

หรือจะเอาปัญหาการจับตัวทักษิณ ชินวัตรกลับมาลงโทษตามคำพิพากษาก็ได้ ประเทศไทยไม่ใช่ตัวตลกที่จะยอมเชื่อว่าทักษิณ ชินวัตรไม่ได้อยู่ในประเทศนั้น ทั้งๆ ที่ทุกๆ คนยกเว้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่างก็รู้ว่าจะไปหาทักษิณ ชินวัตรได้ที่ไหน มีการโทร.เข้ามาทั้งเสียงและภาพปลุกระดมกล่าวเท็จจากประเทศใดก็ทราบได้ไม่ยาก ทำไมฝ่ายความมั่นคงจึงยอมให้ต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยโดยการให้ที่พักพิงกับทักษิณ ชินวัตรเพื่อการกระทำดังกล่าว

หากจะบอกว่ารู้แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ก็สมควรพิจารณาตนเองว่าควรจะบริหารประเทศต่อไปอีกหรือไม่ จริงไหมคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง?

ผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์เช่นเดียวกับที่นายกฯ อภิสิทธิ์เคยเป็น แต่ในช่วงที่ผ่านมาแทบไม่ได้กล่าวถึงประเด็นทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร สาเหตุก็เพราะมองปมปัญหาประเทศว่า หากไม่แก้ที่การเมืองให้มีความมั่นคงก่อนแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจก็ไม่สามารถแก้ไขโดยลำพังได้ เพราะประเทศไทยมาถึงจุดที่รับไม่ได้อีกต่อไปแล้วกับการเมืองเก่าที่เป็นตัวถ่วงการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวังเอาไว้นั้น โดยหลักก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าผู้บริโภคยังคงมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยเหมือนเช่นเดิม ซึ่งจะเป็นไปได้อย่างไรหากผู้บริโภคไม่แน่ใจว่าประเทศชาติจะมีอนาคตเดินไปในทิศทางเช่นใดหากการเมืองยังเป็นเช่นนี้อยู่ เราจะอยู่ในบ้านเมืองที่เราเคยอยู่หรือไม่ มีตัวอย่างอยู่แล้ว เช่น ญี่ปุ่นในยุคทศวรรษที่ 1990 ที่เสียเวลาไปกว่า 10 ปี แม้ว่ามีการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าใด แต่ภาคประชาชนก็ไม่สนองตอบ จนกระทั่งยุคของนายกฯ โคอิสุมิ ที่ต้องเข้ามาแก้ไขปฏิรูปการเมืองให้คนเห็นเสียก่อนเป็นลำดับแรกว่าการเมืองแบบเก่าๆจะต้องหมดไป คนจึงจะเริ่มมีทัศนคติที่ดีต่ออนาคตของประเทศและเริ่มจับจ่ายใช้สอยหรือลงทุน

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องตัดปมปัญหาของประเทศเพื่อให้ชาติสามารถเดินหน้าได้ต่อไป

หมายเหตุ : เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันหน่วยงานที่สังกัด