04 มิถุนายน 2554

“5 เพราะ” และ “5 เพื่อ”

 นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าว
...
เรามีสาเหตุที่ทำให้ต้องโหวตโน 5 สาเหตุ และมีวัตถุประสงค์ในการโหวตโน 5 ข้อ ไม่ใช่โหวตโนแล้วเอาไปทิ้งน้ำ
       
       นายพิชายกล่าวต่อว่า 5 สาเหตุที่เราโหวตโนเพราะ 1.ระบบการเมืองไทยปัจจุบันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เป็นระบบที่ไม่สามารถกีดกันคนเลวไม่ให้เข้าสู่สภาและมีอำนาจได้ และไม่สามารถป้องกันคนเลวในสภาไม่ให้ไปโกงกินและฉ้อฉลได้ 2.นักการเมืองและพรรคการเมืองที่เสนอตัวเข้ามาให้เราเลือกประมาณร้อยละ 80-90 หรือบางคนอาจบอกว่าร้อยละ 99 เป็นนักการเมืองที่ไร้ปัญญาและฉ้อฉลอย่างสิ้นเชิง เป็นนักการเมืองที่ดูถูกประชาชนอย่างร้ายกาจ และไม่มีคนใดพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าจะสร้างชาติหรือทำตัวเป็นรัฐบุรุษนำประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองปราศจากคอร์รัปชั่นได้ มีแต่โกหกตอแหลทั้งสิ้น
       
       3. เราจะไม่สร้างความชอบธรรมให้นักการเมืองพวกนี้อีกต่อไป ถ้าเราไปโหวตให้เราก็ไปสร้างความชอบธรรมให้ระบบที่เลวให้อยู่ต่อไป หรือให้นักการเมืองเลวนั่งชูคอต่อไป 4.ประชาชนที่โหวตโนจะสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ทางการเมือง มีวิธีคิดใหม่ที่จะไม่ให้นักการเมืองมาครอบงำเราอีกต่อไป เป็นการเปลี่ยนแปลงความเชื่อใหม่ ใครที่ตามไม่ทันแปลว่าตกอยู่ในกระบวนทัศน์เดิม งมงายกับนักการเมืองชั่วแบบเดิม และ
       
       5.เราเป็นพลเมืองที่ตื่นแล้ว ไม่ตกอยู่ในมายาภาพของนักการเมืองที่พูดไปวันๆ สร้างภาพไปวันๆ อย่างนักการเมืองไทยขณะนี้ และล่าสุดมีบางคนเสนอตัวเป็นตัวเลือก คนหนึ่งบอกว่าจะต่อต้านคอร์รัปชั่น ทั้งที่ในอดีตเคยทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบาดคาดสินบนทั้งนั้น และไม่มีประวัติต่อต้านคอร์รัปชั่นมาก่อน ใครเลือกคนคนนี้ก็สิ้นคิด
       
       นายพิชายกล่าวต่อว่าที่บางคนวิเคราะห์ว่าการโหวตโนจะสร้างความยิ่งใหญ่ให้พันธมิตรฯ นั้น เป็นการวิเคราะห์ที่เลยเถิด เพราะภาคประชาชนยิ่งใหญ่อยู่แล้ว ไม่ได้ยิ่งใหญ่ด้วยปริมาณ แต่ยิ่งใหญ่ด้วยปัญญาและเหตุผลที่จะต่อสู้ เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์ 5 ข้อที่เราจะโหวตโนคือ 1.เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของเราว่าต้องการให้โหวตโนเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาของของชาติ แก้ปัญหาการเมือง การโหวตโนนั้นเราได้ใส่เจตจำนงทางการเมืองเข้าไปเต็มเปี่ยม ไม่ใช่โหวตโนเฉยๆ
       
       2.เราขยายความคิดเรื่องโหวตโนเพื่อทำให้พลังของภาคประชาชนมีมากขึ้น แล้วเราเอาพลังนั้นมาตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมือง ซึ่งปัจจุบันการเมืองมี 3 ขั้วหลัก คือ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และภาคประชาชน เราต้องเลือกขั้วภาคประชาชนเพื่อให้ประชาชนเข้มแข็ง 3.เราโหวตโนเพื่อเป็นกุญแจเปิดประตูไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างทรงพลัง และมีรากฐานจากประชานที่มีเจตจำนงทางการเมืองอย่างเปี่ยมล้น เพราะรัฐสภาไม่สามารถสร้างความหวังให้เราได้ว่าจะมีการปฏิรูปการเมืองหรือขจัดคอร์รัปชั่น ส่วนการรัฐประหารเราก็ไม่เอาอีกต่อไป เราจะใช้พลังของประชาชนเป็นกุญแจที่ทรงคุณค่าทรงพลัง
       
       4.หลังเลือกตั้งเราจะเชิญตัวแทนประชาชนทุกกลุ่มมาสร้างสถาปัตยกรรมทางการเมืองใหม่ จัดสรรอำนาจในสังคมเสียใหม่ สร้างระบบการเมืองที่มีธรรมาภิบาล ให้อำนาจทางการเมืองกระจายไปอยู่กับทุกกลุ่ม แทนที่จะอยู่กับการเมืองและนายทุนพรรคเท่านั้น และ 5.เราจะโหวตโนเพื่อไม่ให้นักการเมืองหยิ่งผยองอีกต่อไป หรือเรียกว่าโหวตโนเพื่อตีคางคก ให้มันสำนึกว่าประชาชนไม่ใช่บันไดไปสู่อำนาจ ไม่ใช่บันไดไปสู่การใช้อำนาจฉ้อฉลอีกต่อไป
       
       นายพิชายกล่าวต่อว่า คนที่ไม่เข้าใจโหวตโนนั้น บางคนแกล้งไม่เข้าใจ เพราะมีผลประโยชน์กับการเมืองปัจจุบัน อยากจะถามว่า ยังทนอยู่กับการเมืองที่สกปรกอยู่ได้อย่างไร เมื่อไหร่จะปลดแอกจากการเมืองเหล่านี้เสียที นักการเมืองที่กำลังเสนอตัวลงเลือกตั้งอยู่ขณะนี้คิดแต่นโยบายที่ไร้ปัญญา ดูถูกประชาชน เมื่อดูนโยบายทุกพรรคที่ใช้หาเสียงอยู่ขณะนี้ สามารถสรุปออกมาได้ 4 อย่าง คือ “แจกขนมหวาน สร้างปราสาททราย ทำลายนิติรัฐ และกำจัดคู่แข่งทางการเมือง”
       
       “แจกขนมวาน”คือการใช้นโยบายประชานิยม เพราะสิ้นคิด ไร้ความสามารถวิเคราะห์ปัญหาอย่างลึกซึ้งแล้วคิดนโยบายออกมาแก้ จึงคิดออกอย่างเดียวคือแจกขนม คิดอะไรซับซ้อนไม่เป็น “สร้างปราสาททราย” ก็คือทำเมกะโปรเจกต์วาดวิมานในอกาศ เป็นช่องทางทำมาหากินกับงบประมาณและสร้างหนี้สินให้ประเทศ “ทำลายนิติรัฐ”คือออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับพรรคพวกตัวเอง ซึ่งไม่มีนักการเมืองในประเทศประชาธิปไตยทำกัน มีแต่คณะรัฐประหารเท่านั้นที่ออกกฎหมายนิรโทษให้ตัวเอง และ “กำจัดคู่แข่งทางการเมือง” คือการปราบปรามยาเสพติดในอดีตที่ฆ่าคนที่ไม่เกี่ยวข้องไป 2 พันกว่าคน หลายคนเป็นหัวคะแนนพรรคคู่แข่ง เลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์บอกว่าตั้งกองกำลังปราบยาเสพติด ส่วนพรรคเพื่อไทยจะทำสงครามยาเสพติดอีกครั้ง ซึ่งน่ากลัวว่าจะมีคนบริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่ออีก
       
       นายพิชายกล่าวเพิ่มเติมว่า คนที่พูดว่าโหวตโนเป็นแนวร่วมของทักษิณนั้นขอให้เข้าใจว่าคนที่พูดแบบนี้เป็นพวกประชาธิปัตย์ เพราะเขาอยากให้พวกเราโหวตให้ประชาธิปัตย์จึงพูดแบบนั้น อยากจะบอกว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์อยากได้คะแนนให้ไปหาเอาเอง อย่าเอาความกลัวทักษิณมาหากิน ให้เอาฝีมือตัวเองไปหากินดีกว่า และขอให้พวกเราอย่าเอาคะแนนไปทิ้งลงน้ำเน่าให้พวกที่ดีแต่พูด ให้พวกฉวยโอกาสทางการเมือง ไม่โหวตให้ใครทั้งสิ้น เราต้องโหวตโนเท่านั้น

...

31 พฤษภาคม 2554

ผ่าประเด็นร้อน



การเมืองเรื่องผลประโยชน์เฉพาะพวกกู-ชาวบ้านไม่เกี่ยว !!
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์1 มิถุนายน 2554 06:19 น.
       
       นี่ขนาดยังไม่ทันได้หาเสียง เสนอตัวให้ชาวบ้านเขาได้คิดพิจารณาว่าจะเลือกไปเป็นตัวแทนหรือไม่ หรือยังไม่ทันได้ตั้งตัวว่า ทั้งหัวหงอก หัวดำ ไดโนเสาร์ที่ไม่ยอมกลายพันธุ์ถึงเวลาจะต้องกำจัดออกไปหรือไม่ แต่กลายเป็นว่าคนพวกนี้กลับเสนอหน้าออกมา “แบ่งปันอำนาจ” แบ่งปันผลประโยชน์กันล่วงหน้าแล้ว
       
       บางคนแม้ว่าถูกศาลสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองทุกกรณี เป็น “คนไม่มีสิทธิ์” แต่กลับมาจุ้นจ้าน ออกมาชี้นิ้วสั่งการ จนทำให้คนจำนวนไม่น้อยจ้องมองด้วยความขยะแขยง และรังเกียจการเมืองประเภทนี้มากขึ้นไปอีก
       
       ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงสัปดาห์นี้ มีความเคลื่อนไหวของบรรดาพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ “รวมหัว” เพื่อ “ต่อรอง” กับพรรคใหญ่เพื่อหวังเข้าร่วมรัฐบาล ป้องกันตัวเองไม่ให้ตกขบวนอำนาจเท่านั้น ขณะเดียวกัน หากได้จังหวะก็จะฉวยโอกาสผลักดันคนของตัวเอง “ต่อยอด” ขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเสียเอง
       
       นั่นเป็นความเคลื่อนไหวที่พอเข้าใจได้อย่างนั้น มาตลอดสัปดาห์ เริ่มจากการวิเคราะห์การเมืองของเนวิน ชิดชอบ ผู้อุปถัมภ์พรรคภูมิใจไทยที่ระบุว่า ทั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะวืดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีดังที่หวังเอาไว้ โดยมองว่า “ส้มจะหล่น” ใส่เท้า “นายกฯปรองดอง” จากพรรคขนาดกลาง ทำให้ “ปลาไหลเขี้ยวโง้ง” อย่าง บรรหาร ศิลปอาชา ฉวยจังหวะรีบ ดันหลัง “เสธ.หนั่น” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ จากพรรคชาติไทยพัฒนาของตัวเอง ออกมารับลูกทันที พร้อมๆกับข่าวความเคลื่อนไหวต่อสายจับขั้วกับพรรคขนาดกลางที่เหลือทั้งหมด โดยทาบทามพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินเข้ามาเป็นพวกเพิ่มพลังต่อรอง
       
       แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วอาจเป็นไปไม่ได้ เพราะนี่คือรายการ “เขี้ยวชนเขี้ยว” รู้ทันกัน และที่สำคัญขึ้นอยู่กับว่าใครจะได้ประโยชน์มากกว่าได้กำไรมากกว่า ประเด็นอยู่ตรงนั้นต่างหาก
       
       แต่สำหรับ บรรหาร ศิลปอาชา งานนี้ถือว่า “ออกตัวแรง” จนเกินพอดี เพราะแสดงออกนอกหน้า โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการ “นิรโทษกรรม” ลบล้างความผิดให้กับตัวเอง ถึงกับยื่นข้อเสนอกลายๆกันล่วงหน้าไม่ว่าจะร่วมกับใครเป็นรัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการต่อให้สำเร็จเป็นลำดับต้นๆ พร้อมทั้งได้ต่อว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ในทำนองว่าไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้เมื่อครั้งมาขอเสียงสนับสนุนเป็นรัฐบาล จนถึงกับมีคำพูด “ช็อกคนทั้งโลก” ว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี
       
       ขณะที่ฝ่ายเพื่อไทย ล่าสุด มีการส่งสัญญาณออกมาจาก ยิ่งลักษณ์ แล้วว่า ไม่ได้รังเกียจ พรรคภูมิใจไทยของ เนวิน ชิดชอบ ยินดีที่จะร่วมรัฐบาลด้วยกัน หมายความว่าไม่ว่าพรรคไหนก็ตามก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะเป้าหมายสูงสุดก็คือต้องการเป็นรัฐบาล ขึ้นอยู่กับว่าสามารถชิงเหลี่ยมเอาชนะฝ่ายตรงข้ามเข้ามาได้หรือไม่
       
       นั่นเป็นความเคลื่อนไหวและบรรยากาศการเมืองในยามนี้ ที่นักการเมืองเขี้ยวลากดินทั้งหลายที่หากินอยู่กับการเมืองต่างออกมาเสนอหน้า เสนอความคิดเห็น ทั้งที่ตัวเองไม่มีสิทธิ์เกี่ยวข้องกับการเมือง และที่สำคัญเป็นการแสดงออกที่ “ไร้มารยาท” เพราะนอกเหนือจากเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการดูถูกชาวบ้าน อย่างที่ไม่สมควรให้อภัยอีกด้วย เนื่องจากทุกคนทราบดีว่าเวลานี้ยังเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นหาเสียง ยังไม่มีการโหวตลงคะแนนว่าจะให้ใครมาเป็นตัวแทน ยังไม่รู้ว่าใครจะได้กี่เสียง หรือไว้วางใจให้ใครเข้ามา แต่คนพวกนี้ก็ไม่เคยสนใจความรู้สึกคนภายนอกเลยแม้แต่น้อย
       
       ทำราวกับว่า การเมืองเป็นเรื่องของพวกกู ชาวบ้านไม่เกี่ยว หรือชาวบ้านไม่ต้องคิดเอง พวกกูจะคิดแทนให้ อย่างดีก็เพียงแค่มีหน้าที่หย่อนบัตรลงคะแนนเพื่อให้เสร็จสิ้นพิธีกรรมประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งเท่านั้น
       
       ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่ชาวบ้านทั่วไปต้องออกมารวมพลังกันเพื่อสั่งสอนนักการเมืองเขี้ยวลากดิน ที่ทั้งชีวิตทำมาหากินอยู่กับธุรกิจการเมืองจนร่ำรวย คนพวกนี้ไม่เคยเห็นชาวบ้านอยู่ในสายตา บางครั้งหลงเข้าใจผิดไปว่าพวกเขาเป็นเจ้าของทุกอย่างในประเทศนี้ !!

30 พฤษภาคม 2554

ข้อสังเกตจากการประชุมที่ยูเนสโกครั้งล่าสุด


ข้อสังเกตจากการประชุมที่ยูเนสโกครั้งล่าสุด โดย. ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล

ฟิฟทีนมูฟ — ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ในฐานะอดีตหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำ UNESCO และเป็นอดีตที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกเรื่องมรดกโลก ตั้งข้อสังเกตต่อการเข้าร่วมโดยไม่ได้รับเชิญในการหารือไทย-เขมร ที่ศูนย์มรดกโลกของนางโบโกวา ผู้อำนวยการยูเนสโก เมื่อ ๒๕ พ.ค. โดยมองว่าเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของยูเนสโกให้การขึ้นทะเบียนลุล่วง และอำพรางการกระทำการอันผิดธรรมนูญของยูเนสโก เป็นกุศโลบายที่แนบเนียนและละมุนละม่อมเพื่อให้ฝ่ายไทยตายใจ
ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ อดีตหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำ UNESCO และ FAO และเป็นอดีตที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกเรื่องมรดกโลก
แฟ้มภาพ: ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ อดีตหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำ UNESCO และ FAO และเป็นอดีตที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกเรื่องมรดกโลก
ข้อสังเกตจากการประชุมที่ยูเนสโกครั้งล่าสุด
     จากรายงานข่าวการประชุมนอกรอบเรื่องมรดกโลกระหว่างไทยกับกัมพูชาที่กรุงปารีส ข้าพเจ้าขอตั้งข้อสังเกตซึ่งอาจแตกต่างจากความเห็นของบางท่าน ดังนี้
     ท่าที นางนางอิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการยูเนสโก ซึ่งดูเหมือนเอนเอียงมาทางฝ่ายไทยนั้น หากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว จะเห็นได้ว่าแท้ที่จริงนั้น นางโบโกวามีวัตถุประสงค์เพียงรักษาผลประโยชน์ของฝ่ายตนเพื่อให้การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกสำเร็จลุล่วงไปในที่สุด ทั้งนี้ เนื่องจากไทยเป็นฝ่ายถอยโดยขอให้เลื่อนการพิจารณาเรื่องพื้นที่บริหารจัดการออกไป แทนที่จะโต้แย้งขั้นเด็ดขาดมิให้มีการขึ้นทะเบียนตั้งแต่แรก นางโบโกวารู้ดีว่า หากยอมให้มีการโต้เถียงยืดเยื้อถึงขั้นรุนแรงกว่านี้ ก็จะเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ดังกล่าวยังมีปัญหาขัดแย้งซึ่งผิดธรรมนูญของยูเนสโกว่าด้วยการรักษาสัมพันธภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศภาคี และไม่ส่งเสริมให้มีการขัดแย้งอันอาจนำมาซึ่งการใช้กำลัง
     สรุปได้ว่า นางโบโกวาพยายามช่วยกัมพูชาให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยใช้กุศโลบายที่แนบเนียนและละมุนละม่อมเพื่อให้อีกฝ่ายตายใจ ท่าทีที่แสดงว่าเข้าข้างไทยน่าเป็นละครฉากหนึ่ง เพราะในส่วนลึก สิ่งที่น่าหวั่นเกรงมากที่สุดของยูเนสโกคือไทยถอนตัวจากอนุสัญญามรดกโลก เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยถอนตัวจากยูเนสโกแล้วถึงสองครั้ง
     อนึ่ง การที่กัมพูชากล่าวหาว่าไทยทำความเสียหายโดยยิงปืนใส่ซากปราสาทพระวิหารนั้น ไทยควรโต้แย้งว่ากัมพูชาต่างหากเป็นฝ่ายใช้ปราสาทเป็นที่มั่นซ่องสุมกำลังทหารและสรรพาวุธรุกรานฝ่ายไทยโดยใช้อาวุธสงครามยิงบ้านเรือนและราษฎรไทยจากจุดดังกล่าว ไทยจึงไม่มีทางเลือกนอกจากใช้กำลังตอบโต้เพียงเพื่อป้องกันตัวเอง
ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๔