รวมพลังสั่งสอนนักการเมือง เดินหน้าปฏิรูปการเมือง ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกากบาท X ไม่เลือกใคร
โดย คณะกรรมการรณรงค์โหวตโนเพื่อการปฏิรูปการเมือง
หย่อนบัตรกากบาท X ไม่เลือกใคร เพื่อไม่ให้นักการเมืองเอาคะแนนของเราไปทำร้ายและทำบาปกับประเทศชาติ
1. พวกหนึ่งทำทุกวิถีทางเพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐจนถึงขั้นใช้อาวุธสงครามและเผาบ้านเผาเมือง อีกพวกหนึ่งปล่อยให้โจรเผาบ้านเผาเมืองแล้วยังสนับสนุนให้ประกันตัวคนเผาบ้านเผาเมืองให้ออกมาแล้วยังมีหน้าข่มขู่ประชาชนว่าระวังจะมีการเผาบ้านเผาเมืองอีก
2. พวกหนึ่งโกงชาติโกงแผ่นดินรวบอำนาจเป็นของคนในครอบครัว อีกพวกหนึ่งก็แบ่งกระทรวงโกงชาติกินเมืองอย่างอำมหิตจนทำให้ข้าวยากหมากแพงประชาชนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส
3. พวกหนึ่งขายชาติยกแผ่นดินไทยให้เป็นของกัมพูชา อีกพวกหนึ่งก็อ่อนแอปล่อยให้กัมพูชารุกรานยึดครองแผ่นดินไทย ปล่อยให้กัมพูชายิงรังแกราษฎรไทยจนต้องอพยพหนีออกจากแผ่นดินไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย แล้วยังปล่อยให้คนไทยถูกทหารกัมพูชาจับตัวบนผืนแผ่นดินไทยและถูกลงโทษจำคุกโดยศาลกัมพูชา
4. พวกหนึ่งมาเป็นรัฐบาลเข้ามาก็ลุแก่อำนาจจนมีประชาชนต้องออกมาชุมนุม อีกพวกหนึ่งมาเป็นรัฐบาลประชาชนของพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามก็จะออกมาชุมนุมอย่างไม่รู้จบสิ้น
ทำไมคะแนนเสียงของเราต้องลงให้กับคนเหล่านี้มาทำร้ายและทำบาปให้กับประเทศชาติอย่าปล่อยให้นักการเมืองดูถูกประชาชน!! ร่วมกันใช้สิทธิ์เลือกตั้งแต่ “โหวตโน” หรือ กากบาท X ในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน เพื่อสั่งสอนนักการเมือง และเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่
เบื่อการชุมนุม เบื่อความรุนแรง เบื่อความขัดแย้ง กากบาท X ไม่เลือกใครส่งสัญญาณสั่งสอนนักการเมืองทุกพรรค
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เบื่อการชุมนุม เบื่อความขัดแย้งทางการเมือง คุณเป็นคนหนึ่งที่ควรไปเลือกโหวตโน หรือ กากบาท X ลงในช่อง “ไม่ประสงค์จะลงคะแนน” คือไม่เลือกใคร เพราะไม่ว่าเลือกใครก็มีแต่จะมีความขัดแย้งให้ดำรงอยู่ต่อไปไม่รู้จบสิ้น เพราะการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้วกากบาท โหวตโน หรือ ไม่เลือกใคร คือการส่งสัญญาณสั่งสอนไปยังนักการเมืองทุกพรรคว่าปัญหาของประเทศชาติในเวลานี้เพราะเรามีระบบการเมืองและนักการเมืองที่เป็นปัญหาของแผ่นดิน ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างสันติวิธีเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อยุติความขัดแย้งทั้งปวง
เพราะเมื่อมีการปฏิรูปการเมืองแล้ว ก็คือการวางกติกาใหม่ ให้กลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องทั้งหลายมีระบบกลไกและมีเวทีในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของนักการเมืองด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และแม่นยำในความยุติธรรม ตลอดจนเดินหน้าปฏิรูปการเมืองเพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส ขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น สร้างความเป็นธรรมและโอกาสให้กับประชาชนทั้งระบบไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง และด้านสังคม
เมื่อมีกติกาและการปฏิรูปการเมืองเสียใหม่ ทำให้ประเทศไทยมีนักการเมืองที่หลากหลาย มีคุณธรรมมากขึ้น และมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การแก้ไขปัญหาของประเทศย่อมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นความขัดแย้งในสังคมย่อมลดลง และเป็นผลทำให้การชุมนุมหลายกลุ่มก็จะลดลงตามไปด้วย เพราะสามารถใช้กลไกอื่นทดแทนการชุมนุมได้
การโหวตโน หรือ กากบาท X ในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน จึงเป็นการส่งสัญญาณเพื่อเรียกร้องเพื่อยุติความขัดแย้ง แสวงหาเวทีและกลไกในการปฏิรูปให้คนไทยทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยไม่ปล่อยให้ทหารออกมารัฐประหารรวบอำนาจให้กับพวกพ้อง และไม่ปล่อยให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกมาชุมนุมช่วงชิงการปฏิวัติประชาชาติในลักษณะของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองโดยไม่เป็นที่ต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศ จึงถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยมิให้ความขัดแย้งทางการเมืองต้องเผชิญหน้าในลักษณะใช้ความรุนแรงและสำไปสู่การเสียเลือดเนื้อระหว่างคนไทยด้วยกันเอง
ระบบที่ล้มเหลว ไม่มีใครเป็นคนดีจริงให้เลือก
นักการเมืองมี 2 ประเภทเท่านั้นภายใต้ระบบที่เป็นอยู่ คือ
1. เป็นคนเลวชั่วช้าโกงบ้านกินเมือง ลุแก่อำนาจซึ่งสัมปทานตำแหน่งทางการเมืองด้วยจำนวน ส.ส.ในมือเพื่อแบ่งโควต้าตำแหน่งรัฐมนตรีให้มาเป็นของกลุ่มตัวเอง
2. เหมือนเป็นคนดีแต่ยกมือให้คนเลวปกครองบ้านเมือง (ซึ่งก็เลวเหมือนกัน) ยอมจำนนทำตามมติพรรคยกมือไว้วางใจคนโกงบ้านกินเมืองเพื่อรักษาอำนาจรัฐบาล เพราะนักการเมืองที่โกงชาตินั้นเป็นนายทุนสำคัญจ่ายสนับสนุนให้กับพรรคการเมือง ถ้าเลือกสมมุติคนที่เราเลือกเชื่อมั่นว่าเป็นคนดี แต่ต้องไปพ่ายแพ้ต่อระบบการเมืองน้ำเน่า จึงเสมือนปล่อยปลาดีลงไปว่ายในน้ำเน่าจึงไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากเราจะเปลี่ยนน้ำให้เหมาะสมกับปลาที่ดีเสียก่อน
ตัวอย่างที่เป็นจริงและเห็นชัดที่สุด คือ โพลสำรวจออกมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนใดมากที่สุด รัฐมนตรีคนนั้นกลับได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด (ทั้งจากนักการเมืองที่ชั่วและนักการเมืองที่ประชาชนคิดว่าดี) นั่นหมายความว่านักการเมืองที่โกงชาติกินเมืองมากที่สุดก็จะเป็นคนรวยที่สุดที่จะหาเงินมาสนับสนุนพรรคการเมืองจึงควบคุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้ ดังนั้นคนโกงชาติกินเมืองจึงไม่เคยถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี
เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ที่เข้าในสภานั้นต่างซื้อเสียงกันอย่างมโหฬารแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถจับทุจริตเลือกตั้งเพียงแค่ไม่กี่คดี เมื่อนักการเมืองขี้โกงเข้าสภาได้ก็จะนำมาซึ่งปัญหาการโกงบ้านกินเมือง สร้างความเดือดร้อนและความขัดแย้งให้กับประชาชนไม่รู้จบสิ้น กรรมการการเลือกตั้งท่านหนึ่งออกมายืนยันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการซื้อสิทธิขายเสียงกันอย่างมโหฬาร
ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ปปช.) มีคดีท่วมท้น จนคนที่ถูกจับทุจริตได้มีน้อยมาก นักการเมืองจึงย่ามใจและเหิมเกริมมากขึ้นทุกวัน ระบบเช่นนี้นอกจากจะเป็นการกัดกร่อนทำลายชาติ ลูกหลานของเราจะมีแต่นักวิ่งเต้น หาเส้น หาพวก และจ่ายส่วยให้กับความล้มเหลวของระบบการเมืองไปตลอดชีวิต คนทำงานสุจริตเติบโตไม่ได้ คนทุจริตเจริญเติบโตก้าวหน้า
เพราะเราต้องยอมรับความจริงว่า ไม่ว่าพรรคไหนเป็นรัฐบาลก็มีการทุจริตไม่แพ้กัน แม้กระทั่งผล ลการสำรวจของหอการค้าไทยยืนยันว่า 3 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์นั้น มีการทุจริตยิ่งกว่ายุคทักษิณเสียอีก
หย่อนบัตรเลือกใคร คือความพ่ายแพ้ หมดโอกาสปฏิรูปการเมืองการหย่อนบัตรเลือกใครนั้น แสดงว่าเป็น “คะแนนที่ยอมจำนนต่อระบบที่เป็นอยู่” ผลก็คือคะแนนของเราจะต้องไปอยู่กับนักการเมืองข้างใดดังต่อไปนี้
1. คะแนนของเราอยู่กับนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล นักการเมืองก็จะอ้างคะแนนที่ได้มาจากเราว่าเป็นเสียงข้างมากจะทำอะไรก็ได้ สิทธิ์ของคนที่หย่อนบัตรลงไปเช่นนี้จะหมดความหมายในทันทีที่หย่อนบัตรในคูหา และนักการเมืองก็จะไปถอนทุนโกงงบประมาณแผ่นดิน ทำร้ายและทำบาปกับประเทศชาติอีก
2. คะแนนของเราอยู่กับนักการเมืองฝ่ายค้าน สิทธิ์ของคนที่หย่อนบัตรเช่นนี้ก็จะหมดความหายในทันทีเช่นกัน เพราะนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลก็จะอ้างว่าคะแนนของเราที่ลงไปนั้นอยู่ในเสียงส่วนน้อยในระบบ ฝ่ายรัฐบาลจะทำอะไรก็ได้เหมือนกับทุกยุคทุกสมัย
ดังนั้นไม่ว่าคะแนนของเราจะไปเลือกข้างไหน นักการเมืองก็จะอ้างเพื่อไปทำร้ายและทำบาปกับประเทศชาติอยู่ดี แต่ถ้าเราไปใช้สิทธิ์ โหวตโน หรือ กากบาท X ลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน ก็คือ “การสงวนสิทธิ์คะแนนเสียงของประชาชน” ที่ไม่ยอมจำนนกับระบบ นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่ชนะแล้วจะไปทำร้ายประเทศชาติก็ไม่ได้มาจากเรา นักการเมืองฝ่ายค้านที่แพ้ในระบบก็ไม่ได้มาจากเราเช่นกัน ดังนั้นเสียงที่ไม่หย่อนบัตรเลือกใครจึงมีคุณค่าตลอดเวลาเพราะยังไม่ให้นักการเมืองฝ่ายไหนเลย เมื่อเป็นเสียงที่ไม่ยอมจำนนต่อระบบจึงเป็นเสียงที่มีสิทธิ์เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปทางการเมืองเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ไม่เลือกเราเขามาแน่ วาทกรรมข่มขืนสิทธิ์ของประชาชน
หลักการที่ถูกต้องในการเลือกตั้งก็คือ “เลือกคนดีให้มาปกครองบ้านเมือง และป้องกันมิให้คนไม่ดีมีอำนาจ” ไม่ใช่เลือกคนกลุ่มหนึ่งที่เลวน้อยกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะไม่ว่าเลวมากหรือเลวน้อยก็คือเลวเหมือนกัน เพราะคนเลวต่างไปทำบาปและทำร้ายประเทศชาติเหมือนกัน ทำให้ประชาชนต้องเดือดร้อนเหมือนกัน เพียงแต่คนที่เลวเหล่านั้นต่างก็กล่าวหาฝ่ายตรงกันข้ามว่าเลวกว่าพวกตัวเองกันทั้งสิ้น ยกตัวอย่างที่ชัดที่สุด นักการเมืองฝ่ายหนึ่งอยู่เบื้องหลังการเผาบ้านเผาเมือง แต่นักการเมืองอีกฝ่ายหนึ่งกลับสนับสนุนการประกันตัวคนเผาบ้านเผาเมืองเพื่อให้มาข่มขู่ประชาชนเพื่อหวังให้ประชาชนหวาดกลัวแล้วมาลงคะแนนให้กับพรรคตัวเอง หรือเลือกคนจากพรรคไหนก็ไปยกมือให้นักการเมืองไปโกงบ้านกินเมืองถอนทุนเหมือนกันหมด
เปรียบเสมือน มีอาหารอยู่ 2 จาน จานหนึ่งเป็น “ยาพิษ” อีกจานหนึ่งเป็น “เชื้อโรค” บอกว่าประชาธิปไตยต้องเลือกกินเชื้อโรคเพราะเลวน้อยกว่ายาพิษ ผู้ไปใช้สิทธิ์โหวตโน หรือ กากบาท X ลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน คือคนประเภทที่ขอเลือกไม่กินจานไหนเลยไม่ว่ายาพิษ หรือ เชื้อโรค แล้วเอาจานไปล้างหรือเปลี่ยนจานใหม่ แล้วไปทำอาหารจานใหม่ที่อร่อย สะอาด และเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
จากประวัติศาสตร์เมืองไทย นักการเมืองเลวทรามต่ำช้าหากไม่มีความชอบธรรม แม้ว่าจะชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม ก็ไม่สามารถอยู่ได้เพราะประชาชนก็จะต้องออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่อยู่ดี
ไปใช้สิทธิ์ไม่เลือกใคร ได้มากกว่าที่คุณคิด
1. ได้กับคนที่หย่อนบัตรแล้ว โหวตโน หรือ กากบาท ในช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” ว่าคะแนนเสียงของเราไม่ถูกนำไปอ้างโดยนักการเมืองเพื่อไปทำร้ายและทำบาปประเทศชาติ หากนักการเมืองประพฤติชั่วช้าเลวทรามตามระบบที่เป็นอยู่อย่างน้อยก็ไม่เกิดจากคะแนนของเรา เท่ากับว่าเราไม่ได้เป็นผู้ที่มีส่วนทำบาปและทำร้ายประเทศชาติ
2. คะแนนโหวตโน หรือ ไม่เลือกใคร ส่งสัญญาณให้โอกาสนักการเมืองต้องยอมให้มีการปฏิรูปการเมือง เพื่อให้คะแนนที่ไม่เลือกใครสามารถกลับเข้าสู่ระบบได้ คะแนนที่ไม่เลือกใครจึงเป็นทั้งแรงกดดันและแรงจูงใจควบคุมพฤติกรรมนักการเมืองในระบบที่ล้มเหลว
3. หากประชาชนไปใช้สิทธิ์โหวตโน หรือ กากบาท X ลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน จำนวนมากพอจนมีนัยยะสำคัญทางการเมือง แม้จะไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย แต่เมื่อเป็นคะแนนเสียงที่สงวนสิทธิ์ออกมาจากระบบจำนวนมาก ย่อมเป็นการส่งสัญญาณต่อนักการเมืองว่าประชาชนไม่ยอมรับในนักการเมือง เป็นแรงกดดันให้นักการเมืองต้องเปลี่ยนแปลง และต้องนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่
หากคนที่โหวตโน หรือ ไปใช้สิทธิ์ไม่เลือกใครมีมาก ก็จะนำไปสู่กระบวนการระดมความคิดเห็นเพื่อการปฏิรูปการเมือง เข้าชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเสนอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แม้สุดท้ายจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่การแสดงออกในการใช้สิทธิ์ในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนที่มาก จะทำให้เป็นแรงกดดันให้นักการเมืองต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง เหมือนกับเหตุการณ์ที่นักการเมืองต้องผ่านความเห็นชอบในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540
ทุกวันนี้แม้ว่ารัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง แต่คนไทยคนได้เห็นแล้วว่านักการเมืองเลือกแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะในประเด็นที่นักการเมืองต้องการและเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองเท่านั้น นักการเมืองจึงไม่ใช่ผู้ที่จะมาปฏิรูปการเมืองได้ ดังนั้นการส่งสัญญาณ ไม่เลือกใคร ก็คือการสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองให้เดินหน้าโดยมีประชาชนหนุนหลัง โดยอาจเป็นทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนและยื่นข้อเรียกร้องผ่านคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองเพื่อเสนอแนวทางอันเป็นการกดดันต่อรัฐบาลและนักการเมืองให้ยอมปฏิรูปการเมืองต่อไป
กากบาทไม่เลือกใครคือ X ช่องที่ไม่มีหมายเลขในบัตรเลือกตั้ง ถูกกฎหมาย
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการ
ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ระบุไว้ว่า:
มาตรา 67 การลงคะแนนเลือกตั้ง ให้ทำเครื่องหมายกากบาทลงในช่องทำเครื่องหมายของ
หมายเลขผู้สมัครหรือพรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้ง และในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำเครื่องหมายกากบาทในช่องทำเครื่องหมายไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกตั้งในบัตรเลือกตั้ง
และการที่กฎหมายประกอบการเลือกตั้งบัญญัติสิทธิของประชาชนเอาไว้ตามมาตรา 67 ดังนั้น จึงชี้ช่องให้เห็นว่า ประชาชนไม่จำเป็นต้อง “จำนน” ต่อนักการเมือง แต่ยังมีช่องทาง โหวตโน หรือการกาช่องไม่เลือกใคร เป็น “สิทธิอันชอบธรรมของประชาชน” ในระบอบประชาธิปไตย
การ โหวตโน หรือการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแต่กากบาท X ไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ใคร เป็นการสะท้อนความไม่พอใจต่อพรรคการเมืองและนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครพรรคใด แต่การ โนโหวต หรือการไม่ไปลงคะแนนคือ การนอนหลับทับสิทธิ และเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่ใช้เงินและมีเงินทุนพรรคซื้อเสียงเข้ามาในสภา และเข้ามาทุจริตเพื่อถอนทุนภายหลัง
นอกจากนั้นมาตรา 72 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้ว่า บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง บุคคลซึ่งไปใช้สิทธิหรือไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่แจ้งเหตุอันควรที่ทำให้ไม่ไปใช้สิทธิได้ย่อมได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด
สำหรับช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน โดยปกติจะอยู่ “มุมขวาด้านล่าง” ของบัตรเลือกตั้ง แต่มีความไม่แน่นอน เพราะพบว่าบัตรเลือกตั้งบางแห่งมีช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนอยู่ “มุมขวาบน” หรือ”มุมซ้ายบน” ก็มี
ดังนั้นเพื่อความชัดเจน คือกากบาท X ลงในช่องที่อยู่มุมใดมุมหนึ่งที่ไม่มีหมายเลขอยู่ข้างหน้าช่องนั้น
เพียงแค่โหวตโน หรือ ไปใช้สิทธิ์กากบาท X ลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนนั้น นอกจากจะไม่ได้ทำบาปและทำร้ายประเทศชาติแล้ว ยังถือว่าประชาชนต้องการการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่อีกด้วย