02 สิงหาคม 2552

การต่อสู้ภาคประชาชนกรณีทองคำดำและผลกระทบที่ได้รับ

การต่อสู้ภาคประชาชน

ประชาธิปไตย ไม่ใช่การไปหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้นแต่ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ติดตาม ตั้งคำถามต่อความไม่ถูกต้อง และหาผู้รับผิดชอบที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตลอดจนทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ เศรษฐกิจ สังคม การดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆที่ผ่านมาเป็นเพียงการแปรทรัพย์สมบัติสาธารณะให้กลายเป็นทรัพย์สินเอกชนที่ยังคงอำนาจผูกขาด หากเป็นประเทศอื่นๆ คงได้เห็นความรับผิดชอบด้วยการลาออกของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยไม่ต้องให้ทหารมาทำการรัฐประหารรวมถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและครอบครัวในหลายรัฐวิสาหกิจรวมทั้งการปรับโครงสร้างถาวรในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจทั้งหลายที่ควรมีตัวแทนของนักวิชาการและตัวแทนผู้บริโภคเข้าร่วมด้วยเสมอ

ที่ผ่านมาในฐานะรัฐวิสาหกิจเงินภาษีจึงถูกผันเข้าสู่การบริหารทรัพยากรธรรมชาติของปตท.ไม่ว่าจะเป็นการสร้างท่อส่งก๊าซ การสร้างโรงแยกก๊าซ (ก่อนเข้าตลาดมี 5 โรงแยกก๊าซ) งบประมาณขุดเจาะ สำรวจ ฯลฯ อีกมากมายซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศไทย ที่น่าสังเกตคือในช่วงที่ปตท.กำลังจะแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ปตท.และบริษัทลูกซึ่งถือเป็นสมบัติของประชาชน แต่ปตท.ก็มีการกระทำที่ตรงข้ามและไม่ได้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนเห็นได้ชัดจากกรณีการตีราคาบริษัทลูกต่างๆ ของ ปตท. ปตท.ได้ทำการจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินให้ตีราคาบริษัทลูกต่ำๆ โดยใช้วิธีส่วนได้ส่วนเสีย แทนที่จะใช้วิธีราคาทุน เช่นโรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด หรือ RRC มีราคาทุนอยู่ที่ 12,591.24 ล้านบาทจากการลงทุนของโรงกลั่นน้ำมันระยอง ช่วงนั้นอัตราแลกเปลี่ยนจาก 25 บาท เปลี่ยนเป็น 50 บาท เขาไปตีว่า RRC ขาดทุน จึงมีมูลค่าเท่ากับ 0 บาท แต่ที่จริงแล้ว RRC ไม่ได้อยู่ในฐานะที่เจ๊งจนมีมูลค่าเท่ากับ 0 บาทเพราะทุกวันนี้ก็ยังกลั่นน้ำมันได้ ดังนั้นวิธีคิดตามวิธีส่วนได้ส่วนเสียที่ถูกต้องถ้า RRC มีมูลค่า 1 หมื่นล้านบาทก็ต้องตีราคาให้ RRC ที่ 2 หมื่นล้านบาทถึงจะถูกต้องเพราะอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่เพิ่มไปจาก 25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็น 50 บาทต่อเหรียญสหรัฐก็ต้องคิดราคาทุนของบริษัทลูกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า แต่กลับไปคิดให้มูลค่าเป็น 0 เท่ากับ RRC เจ๊งเช่นเดียวกับบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด หรื อ THAPPLINE บางแห่งมีการคิดราคาวิธีส่วนได้ส่วนเสียให้แต่ก็น้อยมากถ้าเทียบกับวิธีราคาทุน เช่น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด มีวิธีราคาทุน 9,480.74 ล้านบาทมีการคิดวิธีส่วนได้ส่วนเสียเพียง 395.51 ล้านบาทหรือบริษัท สตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง จำกัด หรือ SPRC มีวิธีราคาทุนอยู่ที่ 14,378.41 ล้านบาทแต่มีการคิดวิธีส่วนได้ส่วนเสียเพียง 1,325.58 ล้านบาท

ภายหลังการแปรรูปปตท.ผู้บริโภคได้เห็นชัดเจนแล้วว่าเป็นการเปิดทางการคอร์รัปชั่นให้ขยายรูปแบบและทวีความรุนแรงมากขึ้นและยังได้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความร่ำรวยให้กับนักการเมือง บมจ.ปตท.จึงกลายเป็นบริษัทที่ทำให้รูปแบบการกระจายผลประโยชน์ของบริษัทธุรกิจพลังานไปสู่นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงอย่างกว้างขวางและมูลค่ามหาศาลเพื่อหวังผลตอบแทนจากราคาหุ้นมากกว่าการรักษาผลประโยชน์ประเทศชาติ สาธารณะ และประชาชน ทั้งนี้กรณีการแปรรูปปตท.ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้บริโภคทั้งระบบสาธารณูปโภคของประเทศ ระบบเศรษฐกิจ สายพานการผลิต ราคาสินค้า ฯลฯ เมื่อพบว่ามีข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง การใช้สิทธิในกระบวนการศาลเพื่อการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะเป็นสิ่งที่องค์กรและพลเมืองประชาชนคนเล็กคนน้อยพึงมีสำนึกเข้าร่วมกระทำอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางกฎหมายซึ่งเป็นความมั่นคงที่แท้จริงต่อสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

การออกนโยบายกฎหมายแต่ละอย่างมีเป้าประสงค์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบมจ.ปตท.เป็นที่ตั้ง ทำให้มูลค่ากิจการและผลประโยชน์อื่นๆของปตท.เพิ่มขึ้นท่ามกลางความทุกข์ยากของประชาชนและผลกระทบของภาคธุรกิจมีผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 4555% หรือค้าขายโดยคืนทุนในเวลาเพียง 2 ปี มีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์มีบทบาทเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญในการผลักดันการแปรรูปปตท. ในช่วงรัฐบาลทักษิณ และสานต่อปกป้องผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มในช่วงรัฐบาลคมช.และภรรยาถือหุ้นอยู่ในกิจการพลังงานถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของรัฐมนตรีที่ดูแลนโยบายพลังงานที่ได้หุ้นมาในราคาต่ำกว่าจองหลายตัว ขณะเดียวกันก็มีเรื่องส่วนต่างราคาหุ้นในกระดานโดยการให้ข่าวด้านนโยบายที่ส่งผลต่อราคาหุ้นในกระดานโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มปตท.ซึ่งราคาได้ปรับสูงหลายร้อยเปอร์เซนต์จากการให้ข่าวของรัฐมนตรี รวมไปถึงมีตัวแทนถือหุ้นอยู่ด้วย ซึ่งตามข้อเท็จจริงหลังคำพิพากษาของศาลทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการการกระทำที่ไม่ชอบโดยกฎหมายใช่หรือไม่หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นอีกคดีที่ถึงมือศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

รัฐบาลทักษิณได้ใช้วิธีแยบยลในการฮุบสมบัติชาติคือจัดการให้ท่อส่งก๊าซกลายเป็นสมบัติของปตท.ด้วยการเปลี่ยนนโยบายด้านการจัดการพลังงานเป็นระบบผูกขาดเจ้าเดียว ทำให้ท่อส่งก๊าซซึ่งเป็นสมบัติของชาติกลายเป็นทรัพย์สินของบริษัทปตท. การแปลงสภาพและแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีกระบวนการทำให้หุ้นของปตท.มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลซึ่งเป็นประจักษ์พยานถึงการคอร์รัปชั่นทางนโยบายในยุครัฐบาลทักษิณดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไขในภายหลัง ด้วยเหตุนี้ยิ่งมีเหตุผลความถูกต้องตามกฎหมายและความชอบธรรมที่ทรัพย์สิน สิทธิ และประโยชน์ของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติจะต้องกลับคืนสู่รัฐโดยผู้ถือหุ้นไม่สามารถโต้แย้งใดๆ ได้ ก่อนหน้านี้อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อสาธารณะว่าได้ออกพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานเพื่อมาแก้ไขคดีความของปตท.แล้วยิ่งเป็นการชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการออกนโยบายกฎหมายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อล้มล้างความผิดเพิมที่ไม่ถูกต้องและตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและผู้ฟ้องคดี 4 รายในนามภาคประชาชนจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้เพิกถอนการแปรสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2549 ในขณะที่ผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ออกมาในวันที่ 14 ธ.ค. 2550 คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ปตท.ต้องดำเนินการคืนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งบมจ. ปตท.ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐและเงินลงทุนของรัฐที่มาจากภาษีของประชาชนคืนให้กับกระทรวงการคลังทั้งหมดทั้งนี้รวมถึงระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมด การฟ้องครั้งนี้ไม่ใช่เจตนาดีที่บ้าคลั่งของผู้ฟ้องและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่เช่นนั้นแล้วคนมีอำนาจทางเศรษฐกิจโดยผู้กระทำการทั้งหลายที่สร้างความเสียหายต่อประเทศไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ วันที่ 31 ส.ค.2549 ซึ่งเป็นวันที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวก 4 คนฟ้องคดี หุ้นปตท.มีราคา 236 บาทต่อหุ้น วันที่ 16 ก.ค. 2551 มีราคาปิดตลาดอยู่ที่ 250 บาทต่อหุ้น ส่วนเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2550 ซึ่งเป็นวันฟังผลคำพิพากษาของตุลาการ หุ้นปตท.มีราคาปิดตลาดที่ 380 บาทต่อหุ้น

การเพิ่มขึ้นของทรัพย์สิน 500,000 ล้านบาทของปตท.เป็นทรัพย์สินของประเทศที่สูญหายไป หลังจากการแปรรูปบริษัทปตท.ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 นั้นปตท.ไม่เคยมีการโอนคืนทรัพย์สินที่เกิดขึ้นก่อนและหลังการแปรรูปแก่รัฐแต่อย่างใด ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 157,102 ล้านบาทซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดนี้ทั้งได้มาด้วยการใช้อำนาจมหาชนซึ่งบริษัท ปตท.จะต้องคืนให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลให้แบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมและอำนาจมหาชนของรัฐจากปตท. คืนให้แก่รัฐ ทั้งนี้ปตท.ได้แบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้แก่รัฐในช่วงเดือนธ.ค.51ที่ผ่านมารวมทั้งสิ้นเพียง 16,176.22 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย ที่ดินเวนคืน1.42 ล้านบาท สิทธิในการใช้ที่ดิน 1,124.11 ล้านบาท และระบบท่อก๊าซธรรมชาติในที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิ 3 โครงการอีก 15,050.69 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นทรัพย์ก่อนการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ของปตท.เมื่อวันที่ 1 ต.ค.44 จากข้อมูลของการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นั้น พบว่าปตท.ยังต้องคืนทรัพย์สินอีกว่า 32,613 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีทรัพย์สินที่ปตท.จะต้องคืนให้แก่รัฐภายหลังการแปรรูป ณ วันที่ 1 ต.ค.44 อีกกว่า 157,102 ล้านบาทเนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการใช้สิทธิของรัฐและประชาชนจึงจำเป็นต้องคืนให้แก่รัฐตามคำวินิจฉัยของศาลด้วย

แม้ว่ารัฐบาลชุดนั้นได้ใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่ออ้างต่อศาลว่าเหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำฟ้อง ได้ระงับสิ้นไปและทำให้การฟ้องคดีไม่มีมูลไม่ว่าจะเป็น หนึ่ง การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 โดยการตราพระราชกฤษฎีกา กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 สอง การแสดงเจตจำนงคืนที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนที่ปตท.ได้รับโอนมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้กับกระทรวงการคลัง สามการออกกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน แต่การกระทำดังกล่าวไม่สามารถทำให้การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลายเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายได้

ที่ดินที่ได้มากจาการเวนคืนที่ดินของประชาชนรวมทั้งท่อส่งก๊าซธรรมชาติอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ติดอยู่กับที่ดิน สิทธิที่ไปรอนสิทธิที่ดินของประชาชน รวมทั้งท่อส่งก๊าซธรรมชาติอันเป็นทรัพยสิทธิติดอยู่กับที่ดิน ทรัพย์สินและทรัพยสิทธิเหล่านี้จะต้องกลับคืนสู่รัฐทั้งสิ้น แม้ว่าในวันนี้การส่งมอบทรัพย์สินจากบมจ. ปตท.คืนให้รัฐตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดยังไม่ครบถ้วนโดยพิจารณาจากมูลค่าทางบัญชีสุทธิของระบบท่อก๊าซก่อนการแปรรูปปตท. (30 ก.ย. 2544 ) มูลค่า 42,664 ล้านบาทและบมจ.ปตท.ส่งคืนตามคำพิพากษาเพียง 15,050.69 ล้านบาท ยังขาดอีก 32,613.45 ล้านบาทและจนถึงบัดนี้กระทรวงการคลังยังไม่ดำเนินการใดๆเพิ่มเติม ภายหลังที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในกรณีไต่สวนกรณีที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งแยกทรัพย์สินคืนแก่แผ่นดินไม่ครบถ้วนจึงไปยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวน ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีเนื่องจากมิใช่เจ้าหนี้ที่แท้จริง เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะอย่างน้อยข้อมูลตรวจพบและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ พบว่าทรัพย์สินของปตท.ก่อนการแปรรูป มีจำนวน 32,000 ล้านส่วนทรัพย์สินหลังการแปรรูปไม่ถูกพิจารณาเลย ดังนั้นภาคประชาชนจึงจะต้องมีความพยายามผลักดันให้กระทรวงการคลังเข้ามาทำหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติโดยเร็วที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น: