แผนลงทุนปิโตรเคมี
การเร่งทำคลอดแผนลงทุนปิโตรเคมีเฟส 3 ในแบบพิกลพิการปั่นกระแสสร้างรายได้มหาศาลให้กลุ่มปตท.รับหลายต่อเป็นการเพิ่มมูลค่าก๊าซฯที่ปตท.ผูกขาดธุรกิจกินยาวตั้งกระทรวงพลังงานรวบแผนลงทุนปิโตรเคมีผนวกแผนพัฒนาพลังงานบวกเร่งแปรรูปปตท.อย่างยอกย้อนซ่อนกลทำให้รัฐวิสาหกิจผูกขาดด้านพลังงานของชาติกลายสภาพเป็นแหล่งขุมทรัพย์สูบกินไม่มีวันหมด การปั้นแผนลงทุนปิโตรเคมีระยะที่ 3 เพื่อกระตุ้นการลงทุนสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้ประเทศชาติแต่แฝงเร้นไปด้วยผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม การบิดข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการลงทุนเท่านั้นเพราะข้อมูลที่ปรากฎในรายงานผลการศึกษาการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 กลับสวนทางกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่อย่างสิ้นเชิง พื้นที่บริเวณมาบตาพุดและใกล้เคียงยังมีศักยภาพเพียงพอในการรองรับการปล่อยของเสียได้ตามผลศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมประกอบการจัดทำแผนแม่บทปิโตรเคมี ระยะที่ 3 เป็นผลศึกษาที่เกิดขึ้นจากฝีมือของกระทรวงพลังงานเป็นเรื่องที่กลุ่มผู้ลงทุนหลักในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปตท.อยากจะฟังและอยากให้เป็น
แม้ว่าช่วงที่โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ทำงานอยู่สภาพัฒน์มาค่อนชีวิตจะได้ชื่อว่าเป็นนักพัฒนาเพื่อคนจน อดีตแทคโนแครตจากสภาพัฒน์คนนี้เมื่อได้มานั่งในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในคณะรัฐบาลทหารกลับผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้เดินหน้าไม่หยุดยั้งและยังอาศัยตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซื้อเวลาเพื่อเดินหน้าขยายการลงทุนในมรดกบาปจากสมัยรัฐบาลทักษิณที่ได้รับการสานต่อจากรัฐบาลสมัยพลเอกสุรยุทธ์ กระทรวงพลังงานและกลุ่มผู้ลงทุนหลักก็ใช้วิธีลักไก่ขยายการลงทุนด้วยการสมยอมทั้งฝ่ายรัฐในขณะนั้นและเอกชนโดยไม่รอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบด้วยและยังมีการแปลงแผนแม่บทเพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติ หลังจากกระทรวงพลังงานตรวจรับแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 เมื่อเดือนมกราคม 2548 จนกระทั่งถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีการนำแผนดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบแต่อย่างใด ทางสำนักงานนโยบายแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเองก็อ้างเสมอว่าไม่สามารถระงับการพิจารณาอีไอเอได้เพราะตามกฎหมายเมื่อเอกชนเสนอเข้ามาก็ต้องตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญขึ้นมาพิจารณา และเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาอนุมัติ ดังนั้นแผนการลงทุนปิโตรเคมีระยะที่ 3 นี้ที่กำลังเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีปัญหาทั้งการอนุมัติอีไอเอ อนุมัติส่งเสริมการลงทุน แถมยังมีการจัดตั้งมวลชนเพื่อสร้างความชอบธรรม
นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบและความสูญเสียอย่างรุนแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติ ชายฝั่งทะเล เกิดมลพิษที่ส่งผลให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนโดยไม่ได้ตระหนักว่าประชาชนเป็นเจ้าของพื้นที่ เจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและเป็นเจ้าของประเทศ การดำเนินนโยบายดังกล่าวขัดต่อมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญฯ 2550 และขัดต่อหลักการข้อ 10 ของปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ระบุว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกระดับซึ่งเป็นรากฐานของธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ห้วงเวลานั้นมีการสำรวจพบว่าการจัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง พ.ศ. 2550-2554 นั้นมีประชาชนทราบข่าวสารและมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนน้อยมาก ข้อมูลที่เผยแพร่นั้นก็ไม่น่าเชื่อถือ
ปัญหามลพิษท่วมมาบตาพุดฟ้องต่อสาธารณะอย่างชัดเจน หน่วยงานที่ควบคุมดูแลด้านมลพิษโดยตรงรายงานผลการศึกษาและผลการศึกษาของนักวิชาการ องค์กรอิสระอื่นๆ ต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียงมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขอนามัยของประชาชน ส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีความเข้มแข็งขึ้น ประชาชนลุกฮือคัดค้านยืดเยื้อและคงสภาพอยู่ได้ยาวนาน พึ่งพิงกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินไปท่ามกลางเสียงร่ำร้องคร่ำครวญจากผู้สูญเสียญาติสนิทมิตรสหายที่เจ็บป่วยและตายไปด้วยโรคจากมลพิษ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากชุมชนในพื้นที่ดังกรณีของนิคมฯเอเชียแต่ก็ไม่เป็นผลเพราะท้องถิ่นไม่ใช่ผู้ตัดสินใจ แต่เป็นคณะกรรมการผังเมืองซึ่งถูกตั้งคำถามเรื่องที่มาและองค์ประกอบของคณะกรรมการ
สภาทนายความแห่งประเทศไทยได้รับมอบอำนาจจากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวกให้ยื่นฟ้องเลขาธิการสผ., คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, รัฐมนนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกระทำการไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 67 และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 กำหนดไว้ ทำให้ได้รับความเดือดร้อน เสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ พวกเขาสามารถอนุมัติอีไอเอสัปดาห์ละโครงการโดยสะดวกไม่ติดขัดปัญหาอะไรทั้งๆที่มีรายละเอียดโครงการละกว่า 1,000 หน้ากระดาษ โครงการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ด้วยปรากฏว่ามีข้อมูลการศึกษาวิจัยจากหลายหน่วยงาน หลายองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา นักวิชาการอิสระ ยืนยันสอดคล้องกันว่า โครงการที่เป็นปัจจัยหลักในการแพร่กระจายมลพิษส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการในพื้นที่ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, นิคมฯ บ้านฉาง, นิคมฯเอเชีย, นิคมฯเหมราชตะวันออก, นิคมฯผาแดง และนิคมฯอาร์ไอแอล สภาทนายความฯได้ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนอีไอเอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3, 4, 5 เพิกถอนใบอนุญาตรวมทั้งระงับการดำเนินกิจกรรมใดๆ เฉพาะเครือปตท.เจ้าเดียวนำโด่งถึง 8 โครงการ
การเคลื่อนไหวของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกเพื่อให้หยุดการขยายการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และขอให้ระงับการพิจารณาอีไอเอไว้ก่อนเพื่อแก้ไขปัญหามีมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เพราะปัญหามลพิษที่รุนแรงขึ้นในทุกด้าน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง แต่ข้อเรียกร้องของภาคประชาชนกลับไม่ได้รับการตอบสนอง แต่ในที่สุดก็ต้องมาหยุดชะงักเมื่อกระบวนการพิจารณาคดีในศาลปกครองระยอง เปิดเผยให้เห็นความจริงว่าหน่วยงานรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และมีผลประโยชน์ทับซ้อน เมื่อมือข้างหนึ่งเป็นผู้จัดทำแผนแต่มืออีกข้างหนึ่งก็รับแผนมาผลิตให้ได้ตามแผนโดยที่สองมือนี้เป็นของคนคนเดียวกันปัญหาก็เกิดขึ้นกับแผนพลังงานของประเทศโดยไม่ต้องสงสัย
ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นสะท้อนพฤติกรรมหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ว่าชอบทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีกำหนด ตัดสินใจ และผลักดันทุกอย่างให้เดินหน้าไป จากนั้นก็ทำทีเรียกประชาชนมารับฟังสิ่งที่ตนกำหนดไปแล้วเพื่อที่จะสรุปว่าทุกฝ่ายเห็นดีเห็นงามด้วยแค่เป็นพิธี เป็นพื้นฐานของผู้คนในหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะคนจากหน่วยงานวางแผนการพัฒนาของประเทศอย่างเช่นสภาพัฒน์ บทเรียนความผิดพลาดที่ผ่านมาถึงเวลาต้องทบทวนแก้ไขไม่ใช่ปล่อยให้พื้นที่แห่งนี้เป็นสวรรค์ของนักลงทุนแต่เป็นขุมนรกสำหรับประชาชน
จากประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษส่งผลกระทบทำให้ปตท.ต้องประสบปัญหา ต่อการลงทุนทันทีกว่า 2.8 แสนล้านบาทจากเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 4 แสนล้านบาทเป็นผลพวงมาจากความย่ามใจในอำนาจและอิทธิพลของฝ่ายรัฐและเอกชนที่มักพากันอาศัยช่องโหว่และละเมิดกฎหมายกันเสียเองจนเคยชิน โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ต้องหารือกับประเสริฐ บุญสัมพันธ์กรรมการผู้จัดการใหญ่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เพื่อย้ายโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 3 จากที่มาบตาพุดแค่ต่อยอดก็มีอันต้องย้ายไปยังพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้แทน
นอกจากนี้จากรายงานประจำปี 2551 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พบว่าในปี 2551 ปตท.ต้องจ่ายค่า “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” ก๊าซจากโครงการไทย-มาเลเซีย (ซึ่งเป็นโครงการสร้างความขัดแย้งมาตั้งแต่รัฐบาลชวน หลีกภัย และทักษิณจนถึงปัจจุบัน) และจากโครงการท่อก๊าซไทย-พม่า (ที่คาราคาซังกันกันมาตั้งแต่ปี 2541) เงินจำนวนนี้ก็ค่อยๆ ลดลงเมื่อมีการใช้มากกว่าจำนวนที่ได้ระบุไว้ในสัญญาก็ยังเรียกคืนได้ไม่หมด อาการแบบนี้เกิดจากการทำสัญญาการซื้อขายก๊าซระหว่างผู้ผลิต (ผู้ขุดในทะเล) กับผู้ซื้อมาขายต่อบังคับไว้ล่วงหน้าว่าในแต่ละปีผู้ซื้อจะต้องซื้อก๊าซจำนวนเท่าใด ถ้าหากผู้ซื้อมีความจำเป็นที่ไม่สามารถรับซื้อได้ครบตามสัญญาผู้ซื้อก็ต้องจ่ายเงินให้ครบตามจำนวนที่ได้ระบุไว้ เมื่อใดก็ตามที่ผู้ซื้อมีความจำเป็นมากขึ้น (เกินกว่าที่ระบุในสัญญา) ส่วนที่เกินก็ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพราะถือว่าได้จ่ายไปแล้ว เรียกเงินค่าใช้จ่ายนี้ให้ฟังดูดีว่า “เงินจ่ายล่วงหน้าซื้อก๊าซ” ค่าดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสเป็นสิ่งที่เราต้องเสียไปไม่ใช่น้อยเลยเมื่อเทียบกับกำไรหลังการแปรรูปปีละ 1 แสนล้านบาทของปตท.ทั้งหมด
โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียได้รับการคัดค้านทั้งจากชาวบ้านในพื้นที่ กรรมาธิการสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา นักวิชาการกว่า 1,300 คนทั่วประเทศ ขณะเดียวกันผู้คัดค้านบางส่วนก็ได้รับการประณามจากสื่อมวลชนบางส่วนและสังคมว่า “ผู้คัดค้านเป็นพวกขัดขวางการพัฒนา พวกรับเงินต่างชาติ” สิ่งที่นักวิชาการฝ่ายคัดค้านได้เตือนไว้สำหรับโครงการท่อส่งก๊าซไทย-พม่าและไทย-มาเลเซียก็เป็นจริงตามที่กล่าวแล้ว ตลอดเวลาสังคมไทยถูกทำให้เชื่อโดยเจ้าของโครงการและหน่วยงานของรัฐว่าโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียเป็นการนำก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างสองประเทศมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศและพัฒนาภาคใต้โดยมีการลงทุนกันฝ่ายละครึ่งและใช้ประโยชน์กันฝ่ายละครึ่งแต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ความจริงเอาก๊าซในทะเลที่เป็นส่วนของไทยให้นำไปใช้ที่มาบตาพุด ส่วนก๊าซของมาเลเซียให้นำมาแยกที่ประเทศไทยแล้วนำไปใช้ที่มาเลเซียผ่านแผ่นดินประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีการมีการอ้างกันว่าก๊าซของไทยส่วนหนึ่งถูกนำมาใช้ที่โรงไฟฟ้าสงขลา แผนสร้างโรงไฟฟ้าที่ร่างมาทีหลังนั้นมีผลกระทบตามมาอีก ทั้งๆที่ในแผนเดิมในขณะที่มีการดำเนินการสร้างท่อก๊าซนั้นไม่ได้พูดถึงโรงงานแต่ประการใด ก๊าซที่นำมาใช้กับโรงไฟฟ้าเป็นก๊าซของไทยที่ไม่ได้ผ่านโรงแยกก๊าซแต่ต่อท่อตรงมาจากแหล่งในทะเลไม่ใช่ท่อที่ผ่านไปมาเลเซียอีกด้วย
ราคาพลังงานที่แพงขึ้น
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้ค้าน้ำมันว่าสนพ.ได้กำชับให้ผู้ค้าน้ำมันทุกรายปรับลดราคาให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเพราะขณะนี้ค่าการตลาดอยู่ในเกณฑ์สูงซึ่งจากการหารือผู้ค้าน้ำมันยืนยันว่าที่ผ่านมาได้ดูแลผู้บริโภคและสถานีบริการให้อยู่ได้ในระยะยาวควบคู่กันไปในสถานการณ์ราคาที่ผันผวน ในกรณีที่ราคาน้ำมันโลกลดลงผู้ค้าน้ำมันก็ไม่สามารถปรับลดทุกวันได้เพราะจะกระทบกับผู้ประกอบการได้เนื่องจากสถานีบริการขาดทุนและในสถานีบริการพื้นที่ห่างไกลจะไม่กล้าซื้อน้ำมันไปขายหากสะสมไว้เพื่อขายในปริมาณมาก แต่สามารถจะขึ้นทุกวันเว้นวันได้ตราบเท่าที่ตนต้องการ ทุกวันนี้สถานีบริการหลายแห่งได้ชะลอการขายลงหรือปิดตัวไปมากต่อมาก ปตท.เตรียมทบทวนนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกโดยเฉพาะน้ำมันแก๊สโซฮอล์เนื่องจากมีภาระต้นทุนสูงไม่คุ้มค่าการลงทุนขณะที่ปัจจุบันยังมีความต้องการใช้เบนซินอยู่มากเพราะมีราคาต่ำ และแนวโน้มราคายังคงลดลงต่อเนื่อง หากรัฐบาลต้องการส่งเสริมพลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทนก็ต้องประกาศยกเลิกขายเบนซิน 91 หรือเบนซิน 95 ออกมาให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้ค้าน้ำมันสามารถวางแผนการตลาดได้ง่ายขึ้น
หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องพลังงานนี้ได้มีการประชุมหารือร่วมกับผู้ค้าน้ำมันในเรื่องทิศทางการค้าน้ำมันเพราะในขณะนี้มีน้ำมันหลากหลายชนิดในขณะที่มีข้อจำกัดเรื่องหัวจ่ายโดยจะขอให้มีการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ 91 อี 20 และอี 85 แต่เมื่อดูแนวโน้มแล้วคาดว่าในที่สุดเบนซิน 91 และ 95 คงจะหายไปจากตลาดตามกลไกด้านราคาและค่าการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ค้าน้ำมันข้ามชาติหลายรายได้ลดการจำหน่ายเบนซิน 91 และหันมาจำหน่ายเบนซิน 95 แทนเพราะได้ค่าการตลาดที่สูง แต่เชื่อได้ว่าในล่าสุดคงจะมีการประกาศยกเลิกการจำหน่ายทั้งเบนซิน 91 และเบนซิน 95 ทุกวันนี้ทั้งปตท.-บางจากฯ ผลัดกันนำร่องประกาศปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันเป็นว่าเล่น แต่ราคาขายปลีกน้ำมันไม่ค่อยจะได้ถูกประกาศปรับลงสักเท่าไรนัก
ณ วันนี้เค้าลางที่คนไทยจะต้องลำบากต่อไปกับราคาพลังงานที่แพงขึ้นกำลังชัดขึ้นเพราะไม่ว่าจะเป็นก๊าซ แอลพีจี เอ็นจีวีและแม้แต่อี 85 ก็กำลังถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุนที่มีรากฐานมาจากธุรกิจที่ต้องการกำไรเป็นที่ตั้งทั้งสิ้นและที่สำคัญคือการผูกขาดโดยปตท. กลุ่มทุนฮุบ E85-แอลพีจี-NGV ไม่ว่าจะเป็น E20 หรือ E85 คือหนทางทำให้คนไทยได้ใช้น้ำมันถูกลงเพราะมันเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่นำเอทานอลมาผสมน้ำมันเบนซินซึ่งเอทานอลมาจากพืชและมันสำปะหลัง แต่กระนั้นโรงงานเอทานอลขนาดใหญ่ล้วนมาจากทุนระดับบิ๊กไม่ว่าจะเป็นของค่ายเบียร์ช้างที่เปิดเผยตัวชัดเจนและยังมีเครือข่ายที่ไม่เปิดเผยตัวชัดเจนทั้งกลุ่มเบียร์สิงห์ กลุ่มคอมลิงค์ ตัวแทนและกลุ่มของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจนมาถึงกลุ่มเทมาเส็กที่ยอมจ่ายเงินให้ทักษิณ 73,000 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นชินคอร์ป
เช่นเดียวกับธุรกิจก๊าซที่ต้องยกให้ว่าเป็นลับ-ลวง-พรางฉบับปตท.และเครือข่ายทักษิณที่แนบเนียน เพราะผู้เล่นในตลาดก๊าซแอลพีจีที่รับช่วงจากปตท.ไม่ว่าจะเป็นสยามแก๊สหรือเวิลด์แก๊สล้วนก๊วนเดียวกัน สยามแก๊สหรือสยามแก๊สแอนด์ปิโตรเคมีคัลส์ที่กำลังเข้าตลาดหุ้นในเร็ววันก็พบชื่อพลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตรอดีตผู้บัญชาการทหารบกลูกพี่ลูกน้องของอดีตนายกฯทักษิณเป็นประธานกรรมการ ส่วนเวิลด์แก๊สนั้นถือหุ้นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์โดยปิคนิคคอร์ปอเรชั่นที่รุ่งเรืองจากธุรกิจก๊าซและถังก๊าซจนเข้าตลาดหุ้นได้ในช่วงรัฐบาลทักษิณมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือคนในตระกูลลาภวิสุทธิสินอดีตนายทุนของพรรคไทยรักไทย
นี่คือเครือข่ายที่น่าสะพรึงกลัวเพราะก่อนแปรรูปปตท.รัฐบาลใช้นโยบายตรึงราคาก๊าซหุงต้มขายถังละ 160 บาทหลังเข้าตลาดฯ ราคาเพิ่มมาเป็นถังละ 290-300 บาทจึงไม่แปลกหากปตท.จะเดินหน้าแยกแอลพีจีเป็น 2 ราคาเพราะบรรดาโบรกเกอร์ทั้งหลายต่างวิเคราะห์หุ้นปตท.ว่า ราคาต่ำของแอลพีจีเป็นปัจจัยกดดันปตท.ในเชิงสร้างกำไร เนื่องจากปัจจุบันรัฐมีการควบคุมราคาขายแอลพีจีในประเทศ 315 เหรียญต่อตันขณะที่ราคาส่งออกในตลาดโลกสูงถึง 800 - 900 เหรียญต่อตันซึ่งเมื่อปีที่แล้ว 2550ปตท.มียอดส่งออกแอลพีจี8.9 พันบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปี 2549 ถึง -51.8 เปอร์เซ็นต์เพราะมีการใช้ภายในประเทศเพิ่มขึ้น
นี่จึงเป็นนัยสำคัญว่าทำไมจึงต้องดันราคาแอลพีจีในประเทศให้สูงโดยตั้งราคา 2 มาตรฐานเพื่อตรึงราคาภาคครัวเรือนเพื่อรักษาความนิยมของรัฐบาลต่อไปขณะที่ลอยตัวราคาภาคขนส่งและอุตสาหกรรมจะช่วยลด Demand ของแอลพีจีในตลาดรถเพื่อให้ปริมาณแอลพีจีเหลือมากพอให้ปตท.ส่งออกทำกำไรได้มากยิ่งขึ้นกว่าเงินที่ได้รับจากการชดเชยกองทุนน้ำมันและยังเป็นเครื่องมือช่วยปตท.ครองตลาดก๊าซเพื่อยานยนต์ด้วย NGV แต่เพียงผู้เดียวไม่ต่างจากการ“ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว” ตราบเท่าที่ปตท.ยังสามารถซื้อสื่อและสร้างภาพด้วยงบโฆษณาพีอาร์และซีเอสอาร์ปีหนึ่งหลักพันล้านบาทผนวกเข้ากับเชื้อทักษิณและการผูกขาดของปตท.และกลุ่มทุนที่เหนียวแน่น คนไทยคงต้องลำบากกับน้ำมันและก๊าซที่ถูกปั่นราคาไปอีกนาน
ไทยสามารถผลิตก๊าซแอลพีจีได้ถึงปีละ 4.05 ล้านตันซึ่งแบ่งได้เป็นการใช้ของภาคครัวเรือนและยานยนต์ประมาณปีละ 2.66 ล้านตันและลดการใช้ลงทุกปีแปลว่ามีแอลพีจีเหลือเฟือสำหรับการใช้ในครัวเรือนของไทย ในขณะที่ในครัวเรือนลดการใช้ก๊าซแอลพีจีลงทุกปีแต่ในอุตสาหกรรมปิโตรฯกลับมียอดการใช้พุ่งสูงขึ้นมหาศาลมีอัตราส่วนในการใช้แอลพีจีในประเทศสูงถึง 40.3 % สูงเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมดที่มีแปลว่าที่แอลพีจีขาดแคลนในปีที่แล้วส่วนหนึ่งก็มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทลูกของเครือปตท.เอง เมื่อปตท.รู้ว่าก๊าซธรรมชาติมีเพียงพอแต่ไม่ยอมสร้างโรงแยกก๊าซเพิ่มนั่นเป็นสาเหตุให้ก๊าซขาดแคลน ปตท.กลับจะโยนภาระให้ประชาชนต้องรับในส่วนต่างด้านราคาพร้อมอ้างว่านำเข้า 10% ปีก่อนๆด้วยยอดที่สูงถึง 8,020 ล้าน เหตุผลทุกครั้งที่ปตท.อ้างในการขอขึ้นคือไทยต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศและราคาในตลาดโลกก็สูงขึ้นแต่คนไทยยังใช้ในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ปตท.แอบอ้างเสมอๆว่าเป็นผู้แบกรับสำรองเงินจ่ายไปก่อน เวลานี้ปตท.พยายามกระทุ้งรัฐขอขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีแต่รัฐเกรงกระทบกับประชาชนดังนั้นรัฐจึงต้องใช้กองทุนฯ เข้ามาอุ้มราคาก๊าซแทนหรือออกนโยบายให้ชะลอการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน รัฐบาลเองก็ยอมรับโครงสร้างราคาถูกบิดเบือนโดยปตท.มาตลอดหลังถูกรัฐบาลทักษิณจับแปรรูปเข้าตลาดหุ้นเพราะถูกมองว่าเป็นธุรกิจผูกขาดสามารถสร้างผลกำไรที่งดงาม แต่ถ้ารัฐบาลใช้วิธีให้กองทุนน้ำมันฯเข้าไปอุดหนุนต่อก็สามารถทำได้เหมือนในอดีตจนเป็นหนี้ 8-9 หมื่นล้านบาทสุดท้ายก็ไม่ไหวจึงควรพิจารณาโครงสร้างราคาให้เหมาะสมมากกว่า ปตท.สมอ้างว่าถ้าราคาก๊าซหุงต้มต่ำเกินไปคนจะใช้มากขึ้นโดยปตท.จะอุดหนุนภาระส่วนต่างการนำเข้าก๊าซหุงต้มแค่ 10,000 ล้านบาท มากกว่านี้ให้เป็นภาระของรัฐปตท.จะต้องดูแลผู้ถือหุ้นในโครงสร้างราคาที่ผ่านมาผิดเพี้ยนไปมาก แม้ว่าในความเป็นจริงก๊าซหุงต้มที่ต้องนำเข้าจริงๆเอาจากในประเทศส่งออกทางเรือไปวนในทะเล 1 รอบแล้ววนกลับมาขายในประเทศในราคาตลาดโลก
แอลพีจี หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวมาจาก 2 แหล่งคือการกลั่นน้ำมันดิบในโรงกลั่นน้ำมันและการแยกก๊าซธรรมชาติจึงถือเป็นผลพลอยได้สุดๆโดยมีต้นทางมาจากปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) บริษัทในกลุ่มปตท. นอกจากนี้ยังให้สัมปทานขุดเจาะ 30 ปีในอ่าวไทยและบางแปลงมีพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชาแก่บริษัทเชฟรอนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรวมทั้งร่วมทุน 16 เปอร์เซ็นต์ในโครงการอาทิตย์ของ ปตท.สผ.อีกด้วยโดยเชฟรอนผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวได้ 47,147 บาร์เรลต่อวัน นอกเหนือจากผลิตก๊าซธรรมชาติ 1,668 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และน้ำมันดิบ 85, 387 บาร์เรลต่อวัน โดยส่งต่อก๊าซธรรมชาติทั้งหมดให้ปตท.ที่เชฟรอนแจ้งว่า 75 เปอร์เซ็นต์นำไปผลิตกระแสไฟฟ้า 25 เปอร์เซ็นต์เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมี ดังนั้นเมื่อแยกก๊าซเรียบร้อยแล้วส่วนหนึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้าขณะที่ปตท.ครองตลาดก๊าซธรรมชาติ NGV แต่เพียงผู้เดียวและใช้กับตลาดยานยนต์เท่านั้น โดยปตท.ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 60,000 ล้านบาทแต่ยังอยู่ในภาวะขาดทุนสะสมกว่า 6,000 ล้านบาท ส่วนที่เป็นก๊าซเหลวแอลพีจีนั้นนอกจากปตท.จะขายปลีกมีส่วนแบ่งตลาดรวม 45 เปอร์เซ็นต์ยังขายส่งให้บริษัทก๊าซโดยมีสยามแก๊สแอนด์ปิโตรเคมีคัลส์และเวิลด์แก๊สเป็นยักษ์ใหญ่รองจากปตท.ด้วยส่วนแบ่งตลาดประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์และ 21 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
"ผมเป็นกัปตันเรือบรรทุกน้ำมันแต่ไม่ขอบอกชื่อนะครับ ขณะนี้เรือผมได้ทอดสมออยู่ที่หาดแหลมเจริญเพื่อรอรับน้ำมันดีเซลจากIRPCหรือTPIเก่าละครับ แต่เมื่อปตทได้ซื้อไปก็เปลี่ยนชื่อเป็นIRPC ผมรับน้ำมันเพื่อส่งไปที่เขมรและเวียดนาม เรื่อผมบรรทุกก๊าสแอลพีจีไม่ได้เพราะไม่ใช่เรือบรรทุกก๊าซแต่ผมมีเพื่อนที่เป็นกัปตันเรือบรรทุกแก๊สแอลพีจีอยู่หลายคนพวกจะมารับแก๊สแอลพีจีจากIRPCเพื่อไปส่งเขมรและเวียดนาม เหมือนผมเดือนละหลายเที่ยวเรือ ขณะที่ผมกำลังโพสอยู่นี่ก็มีเรือแก๊สรอรับอยู่ 3 ลำตั้งแต่ผมเดินเรือมายังไม่เคยเห็นเรือแก๊สที่นำเข้าเลยแม้แต่ลำเดียวมีแต่เรือส่งออก ปตทบอกได้นำเข้าแก๊สมาจากต่างประเทศปีละเป็นล้านตันแล้วเขาเอาเข้ามาทางไหนละครับถ้าทางเรือผมไม่เคยเห็น-เคยเห็นแต่เรือส่งออก ลองมาดูที่แหลมเจริญที่ระยองซิครับมีเรือมาคอยรับทุกวันละครับ เพื่อส่งไปเขมร เวียดนาม แล้วไอ้นักวิชาการด้านน้ำมันที่มาออกรายการตาสว่างนะครับเขาเป็นอดีตคนที่ทำงานปตท สิ่งที่เขาพูดนะเป็นการแก้ต่างให้ปตททั้งนั้น ปตทได้ไปลงทุนในการวางท่อแก๊สNGVจากมาเลเซียและพม่าตั้งหลายแสนล้านบาท ปตทจึงต้องการให้คนไทยใช้ NGV เพราะก๊าซNGVเขามีกันทุกประเทศละครับ เขมรตอนนี้ก็เจอก๊าซNGVอยู่หลายหลุม เวียดนามก็เจอ พม่าเขาก็มีเยอะ ทั่วโลกเขามีกันหมด ถ้าคนไทยไม่ใช่NGVแล้วปตทจะเอาไปขายใครละครับ ต้องบังคับให้คนไทยใช้ให้ได้ โอยอ้างว่าก๊าซNGVปลอดภัยกว่าจริงๆแล้วไม่ใช่หรอกครับ อันตรายพอๆกันละครับ เพราะNGVเป็นก๊าซที่มีแรงดันสูง โอกาสจะระเิบิดก็ยอมมีสูงตามไปด้วย ถ้ามันอยู่ในกระโปรงหลังรถมันจะออกไปไหนละครับมันก็จะระเบิดอยู่ที่ท้ายรถละครับ ตอนนี้ยังไม่มีเรือลำไหนสามารถบรรทุกก๊าซNGVได้เลย เรือที่บรรทุกแอลพีจีไม่สามารถบรรทุก NGVได้เพราะNGV มีแรงดันสูงกว่าแอลพีจีหลายเท่า ปตทเลยไม่สามารถส่งออกได้นอกจากมาหลอกขายคนไทย ตอนนี้โรงกลั่นเป็นของปตทเกือบหมดแล้ว ปั้มน้ำมันที่ไม่มีโรงกลั้นก็ต้องไปซื้อน้ำมันจากปตทมาขายอีกทีเลยต้องขายแพงกว่าปตท ปตทไม่ได้ช่วยอะไรคนไทยเลยนะครับ"
ผู้รู้ด้านพลังงานได้สรุปไว้ว่าทางออกของปัญหาพลังงานมีเพียง 2 ทางเท่านั้น คือ (1) ใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่รั่วไหล ไม่ฟุ่มเฟือย และ (2) หันไปใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งใช้แล้วไม่มีวันหมด ได้แก่ พลังงานลม แสงแดด ชีวมวล ของเสียจากเทศบาล เป็นต้น การเมืองใหม่จะไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้เลยถ้าไม่ให้ความสนใจกับ “นโยบายพลังงานใหม่” เพราะรายจ่ายด้านพลังงานของประเทศไทยที่มีมูลค่าถึง 18% ของรายได้ประชาชาติ
ราคาน้ำมันในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผันผวนมาก กังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผู้ค้าน้ำมันเริ่มกังวลต่อค่าการตลาดน้ำมันที่ลดลงทำให้ต้นทุนราคาน้ำมันสูงขึ้น ค่าการตลาดน้ำมันที่ผู้ค้าแต่ละรายชอบอ้างว่ายังอยู่ในระดับต่ำ ค่าการตลาดน้ำมันเป็นรายได้ที่แบ่งกันระหว่างบริษัทผู้ค้าน้ำมันกับเจ้าของสถานีบริการน้ำมัน ค่าการตลาดน้ำมันที่เหมาะสมในการทำธุรกิจน้ำมันในปัจจุบันควรอยู่ในระดับประมาณ 1.50 - 2.00 บาทต่อลิตร ประชาชนต้องคอยระวังระไวว่าวันใดราคาน้ำมันจะเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาปตท.-บางจากฯนำร่องประกาศปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันแทบทุกครั้ง บางครั้งก็แจ้งล่วงหน้า บางครั้งก็ไม่แจ้ง จนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานหรือสนพ.ต้องขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันทุกรายประกาศขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิดก่อนก่อนเวลา 16.00 น.ของวันที่จะปรับราคา หลังๆมานี้ผู้ค้าแต่ละรายแจ้งตอนเย็นซึ่งกว่าทางการจะประกาศได้ก็สายไปเสียแล้ว ยรรยง พวงราชอธิบดีกรมการค้าภายในถึงกับออกมาปรามออกมาให้สัมภาษณ์ตำหนิบริษัทค้าน้ำมันในประเทศไทยที่ฉวยจังหวะขึ้นราคาน้ำมันโดยไม่แจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้าถึง 2 ครั้ง 2 คราไม่ต่างอะไรกับถูกโจรล้วงกระเป๋าภายในอาทิตย์เดียวทำให้รู้สึกใจชื้นขึ้นมาบ้างที่เห็นหน่วยงานราชการไทยยังเป็นห่วงเป็นใยประชาชนผู้บริโภคมากกว่าบริษัทเอกชนเพราะถ้าไม่ออกมาปรามเสียบ้าง ข้อตกลงระหว่างสนพ.กับบริษัทค้าน้ำมันที่จะต้องแจ้งการปรับขึ้นราคาน้ำมันให้ทราบล่วงหน้า 1 วันเพื่อประกาศให้ผู้บริโภคทราบก็เหมือนเป็นแค่ลมปาก แม้การประกาศขึ้นราคาน้ำมันล่วงหน้า 1 วันจะทำให้ประชาชนผู้บริโภคประหยัดกันได้เพียงเล็กน้อยเต็มที่ก็แค่เต็มถัง
ถึงเวลาคนไทยซื้อคืนปตท.แล้วหรือยัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น