16 ตุลาคม 2552

อย่า ชำเรา มาบตาพุด อีกเลย

ในการพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออกที่มาบตาพุดดำเนินการมานานกว่า 20 ปีมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไม่น้อยในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและคุณภาพชีวิตของชาวระยองไม่น้อยเช่นเดียวกันประกอบกับมีการขยายตัวของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมออกจากพื้นที่ตั้งต้นเดิมรุกเข้าไปในพื้นที่ชุมชนครั้งใหญ่ๆ หลายครั้ง   ผลกระทบที่เกิดกับประชาชนและชุมชนจึงรุนแรงมากไม่มีใครปฏิเสธได้ ทุกฝ่ายต่างรู้กันดี      เมื่อเดือนเมษายน 2550 เครือข่ายภาคประชาชนภาคตะวันออกได้ขอใช้สิทธิตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ให้ทำเอชไอเอที่มาบตาพุด   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้สนับสนุนให้มีการจัดสมัชชาคุณภาพในพื้นที่และพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และ ครม. เป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลเอาใจใส่การแก้ปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังพร้อมกันนั้นก็ได้เสนอให้รัฐบาลชะลอโครงการลงทุนใหม่ที่มาบตาพุดเพื่อให้ทำอีไอเอและเอชไอเอตามกรอบกำหนดในรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ให้เรียบร้อยโดยเร็วก่อน     และนี่เป็นครั้งที่ 2 แล้วสำหรับมาบตาพุดเพราะก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคมปีนี้ศาลปกครองระยองได้สั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้มาบตาพุดและอีกหลายตำบลในระยองเป็นเขตควบคุมมลพิษ

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันแก้ไขและบรรเทาให้ลดน้อยลงได้ด้วยการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐและการบริหารจัดการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน  ปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษสูงซึ่งรวมกันอยู่ในพื้นที่มาบตาพุดอันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศมีอยู่จริงและส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างต่อเนื่องและสถานการณ์ของปัญหามลพิษมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น   จึงมีเหตุจำเป็นและเป็นการยุติธรรมและสมควรตามหลักนิติธรรม หลักการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและหลักการบริหารงานของรัฐอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม   จึงสมควรกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมตามเอกสารหมายเลข 7 ท้ายคำฟ้องไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

พลันที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับ 76 โครงการลงทุนและขยายโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นการชั่วคราว  ก็ปรากฎกลุ่มคนออกมาป่าวประกาศกันว่าคนระยอง คนมาบตาพุดส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนในพื้นที่จริงๆทราบเรื่องนี้ดี คนเพียง 43 คนอ้างข้อมูลที่ท่านนำเสนอต่อศาลเรื่องมะเร็งมีข้อเท็จจริงหรือถูกต้องหรือไม่แล้วจะมาพูดและบอกว่าเป็นความประสงค์ของคนทั้งหมดนั้นจริงหรือ   โครงการบางโครงการควรชะลอจริงบางโครงการก็เป็นโรงไฟฟ้าเพื่อสนองตัณหาและกิเลสการใช้พลังงาน บางโครงการ ก็เป็นปิโตรเคมีขั้นต้นอันเป็นวัตถุดิบของเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห้ม ฟูก ที่นอน โซฟา สีทาบ้าน ฝ้า เพดาน ถุงถังกะละมัง ฯลฯ  ปัจจัยสี่ของพวกท่านทั้งนั้นที่เป็นต้นเหตุให้ต้องมีโรงงานพวกนี้ อย่ามัวแต่ต่อต้าน เรื่องทั้งหลายพวกนี้ต้องมีการพิสูจน์และยืนยันให้ประชาชนส่วนใหญ่รับทราบข้อมูลที่สมบูรณ์

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือกกร.เตรียมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีใน 3 แนวทาง  กล่าวคือ 1 ต้องการให้รัฐประกาศ 8 ประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนมีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว 2 กฎหมายลูกของมาตรา 67 ตามรัฐธรรมนูญ 2550 เรื่องการจัดตั้งองค์กรอิสระนั้นถือเป็นอำนาจนายกฯว่าจะให้หน่วยงานใดรับผิดชอบเร่งรัดเพื่อให้ออกมาโดยเร็วที่สุด   3 คำสั่งของศาลปกครองกลางที่ระงับดำเนินโครงการนั้นเดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นรัฐบาลต้องมีคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองแสดงผลการควบคุมมลพิษที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่มีบังคับใช้อยู่แล้ว

นายกรณ์ จาติกวณิชรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าจะมีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย เชื่อว่าหากการลงทุนดังกล่าวล่าช้าไป 1 ปีจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ 0.4% และคงส่งผลต่อประมาณการเศรษฐกิจปี 2553 บ้างไม่มากก็น้อย  

ชาญชัย ชัยรุ่งเรืองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกมาบอกว่าทุกโครงการในพื้นที่มาบตาพุดยังเดินหน้าต่อไปได้เพราะกระทรวงไม่มีอำนาจสั่งระงับโครงการของเอกชนเนื่องจากทุกโครงการดำเนินงานถูกต้องตามกฎหมายกระทรวงมีอำนาจการส่งเสริมให้มีการลงทุนเท่านั้น การอุทธรณ์กรณีนี้กระทรวงจึงได้ขอให้ศาลพิจารณาออกคำสั่งหรือข้อปฏิบัติที่กระทรวงสามารถทำได้

อัยการฝ่ายคดีปกครองซึ่งรับมอบอำนาจจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขอให้ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางอ้างว่ายังไม่มีกฎหมายลูกบังคับใช้  ภายหลังอัยการยื่นเรื่องอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดไปแล้ว  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงผลการประชุมถึงการแก้ไขปัญหาพื้นที่มาบตาพุดว่ากระทรวงหลักๆที่เกี่ยวข้องมาเพื่อดูแนวทางการรองรับทุกกรณีที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 8 ตุลาคมเพราะขณะนี้คดียังไม่ถึงที่สุดแต่โดยหลักของรัฐบาลต้องการให้กระบวนการการพัฒนาที่เดินหน้าได้ จะมีการเร่งรัดเรื่องที่คณะกรรมการพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (กพอ.) ได้เสนอเข้ามาด้วยนอกจากนี้ยังจะทำความเข้าใจกับนักลงทุน  .ต้องยอมรับว่าถ้าการลงทุนมันชะงักหรือมีความไม่แน่นอน มันก็กระทบ แต่เราต้องเข้าใจว่าความเดือดร้อนของพี่น้องที่มาบตาพุดก็มีมากเหมือนกัน   เราจะไปบอกว่าทำอะไรก็ได้ แล้วเขาจะต้องเป็นคนเสียสละ ก็คงไม่ถูกต้อง .

นายสุทธิ อัชฌาศัยผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกกล่าวว่า รัฐต้องระงับโครงการทั้ง 76 โครงการตามคำสั่งศาลหากกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ดำเนินการแสดงว่ากระทรวงไม่ดำเนินตามอำนาจตุลาการที่มีคำสั่งให้หยุดดำเนินการเป็นการชั่วคราว "คุณชาญชัยในฐานะรัฐมนตรีควรยึดพ.ร.บ.อุตสาหกรรมในการบริหารงานซึ่งถือเป็นกฎหมายที่มีอยู่และควรดำเนินงานตามคำสั่งศาลในการแจ้งผู้ประกอบการให้ระงับโครงการทั้งหมด 76 โครงการในพื้นที่มาบตาพุด หากไม่ดำเนินการถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล"  เครือข่ายฯได้ประสานกับประชาชนและแรงงานให้รวบรวมหลักฐานเพื่อยื่นเรื่องให้ศาลทราบว่าบริษัทในเครือของปตท.และปูนซิเมนต์ไทยยังคงดำเนินการตามปกติไม่ได้มีการระงับโครงการตามคำสั่งศาลแต่อย่างใด คำให้สัมภาษณ์ของรัฐและเอกชนก็จะเป็นหลักฐานเพื่อยื่นต่อศาลด้วย  และ ให้ป.ป.ช.ตรวจสอบนายชาญชัยด้วย    นายสุทธิกล่าวด้วยว่านายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิชซึ่งเป็น 1 ในคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งตีความให้กระทรวงอุตสาหกรรมแจกใบอนุญาตประกอบกิจการได้เพื่อให้การลงทุนเดินหน้าต่อไปนั้นเป็นกรรมการบริหารของเครือปตท.ด้วย   และ นอกจากนี้นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งระบุการหยุดกิจการชั่วคราวของ 76 โครงการจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศถดถอยนั้นมีน้องชายคือนายอนุตร จาติกวณิชเป็นผู้บริหารบริษัท โกลว์ เหมราช พลังงาน จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 76 โครงการในพื้นที่มาบตาพุดด้วย

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติจัดทำร่างพ.ร.บ.แก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมีเครื่องมือในการประเมินผลกระทบจากโครงการของรัฐที่มากกว่าการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ตามมาตรา 46 วรรคสอง แก้กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับเดิมเพื่อเสนอครม.และเสนอสภาฯต่อไป    คาดว่าเป็นร่างที่มีการยกไว้แล้วและภาคประชาชนไม่เห็นด้วยแน่เพราะให้อำนาจกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทส. เบ็ดเสร็จในการกำหนดว่าองค์กรไหนที่เป็นองค์กรอิสระ  จัดตั้ง ชี้นำ กำกับ สั่งการได้และถอดถอนออกองค์กรอิสระได้  หากรัฐบาลเลือกแนวทางนี้ไม่จบแน่   ก่อนนี้ทส.ได้ทำการตั้งคณะทำงานชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ร่างกฎหมายลูก รับฟังความเห็น แต่ก็ถูกแช่แข็งไว้จนบัดนี้ แล้วทส.ก็หันไปหาแนวทางแก้ไขกฎหมายเพื่อคงอำนาจของนักการเมืองและราชการไว้ตามเดิม โครงการที่เป็นเป้าหมายที่จะเข้าไปตรวจสอบจะเป็นโครงการใหญ่ๆ เช่น โรงไฟฟ้า โรงถลุงเหล็ก โรงงานปิโตรเคมี ที่อยู่นอกเขตจังหวัดระยอง เป็นต้น

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเนื่องจากคำสั่งระงับโครงการจำนวน 100,000 ล้านบาท และนายกรัฐมนตรีรับข้อเสนอของ กกร.ไว้พิจารณาถึงความเป็นไปได้   ทั้ง 76 โครงการ มีเม็ดเงินลงทุนรวมกันประมาณ 400,000 ล้านบาท คำสั่งของศาลทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าหากต้องชะลอโครงการออกไปจะมีความเสียหายมากน้อยเพียงใด ก่อนหน้านี้นายธนิต โสรัตน์รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตอนนี้นักลงทุนใหม่ชะลอแผนการลงทุนในไทยวงเงิน 2-3 แสนล้านบาทแล้วหันไปสำรวจข้อมูลการลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านแทน

กรณีที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้ระงับโครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดจ.ระยอง 76 โครงการนั้น แต่ละโครงการที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วรัฐบาลมองว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 67 วรรค 2 เพราะมีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) พบว่าไม่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง บางโครงการมีผลลดมลพิษด้วยซ้ำ  รัฐบาลจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งชั่วคราวของศาลปกครองแล้ว    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจึงได้ขอความร่วมมือจากฝ่ายค้านในการช่วยผลักดันกฎหมายนี้ไปแล้วเพื่อให้มีกติกาที่ชัดเจน การดำเนินการต่างๆ จะได้ไม่หยุดชะงักแต่ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมาย ก็จะอาศัยกฎหมายที่มีอยู่ออกระเบียบต่างๆ เพื่อล้อตามสาระของกฎหมายใหม่ไปก่อนพร้อมกันนี้จะทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างชาติ  อันที่จริงแล้วถึงรัฐบาลไม่ยื่นอุทธรณ์นายทุนเอกชนก็มีสิทธิจะยื่นเองได้อยู่แล้วจะยื่นแยกเป็นรายหรือยื่นร่วมกันทั้งหมดก็ได้ เป็นกรณีพิพาทระหว่างนายทุนกับประชาชนในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลที่ดีควรต้องวางตัวเป็นกลางที่พร้อมจะเป็นที่พึ่งของสองฝ่าย แต่ในการอุทธรณืครั้งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลนี้ถือว่า "นายทุนมาก่อน"

สภาทนายความแห่งประเทศไทยผู้ฟ้องคดีจึงจะยื่นคำคัดค้านการอุทธรณ์ของอธิบดีอัยการทันทีเพราะเวลานี้มีกระบวนการที่พยายามเร่งรัดให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเร่งพิจารณาคดีนี้โดยเร็ว แล้วจะแนบผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนอยู่ในขั้นรุนแรงเป็นการสมควรแก่เหตุที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างโครงการไว้ชั่วคราวและให้มาดำเนินกระบวนการต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสองก่อน   นอกจากนั้นยังจะยื่นรายงานผลการวิจัยต่างๆ ของภาครัฐ และจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ที่บ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลอดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าคาดว่าฝ่ายเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกซึ่งฟ้องร้องศาลปกครองฯให้ระงับ 76 โครงการลงทุนที่มาบตาพุด อาจจะหยิบยกมาตรา 11 ขึ้นมาร้องต่อศาลอีกครั้งเนื่องจากมาตราดังกล่าวเปิดช่องให้บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินเอชไอเอจากนโยบายสาธารณะ   ขณะเดียวกันบุคคลหรือคณะบุคคลก็มีสิทธิได้รับรู้ข้อมูลคำชี้แจงเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการอนุญาตหรือดำเนินโครงการใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือของชุมชนได้  แม้กระทรวงอุตสาหกรรมจะประกาศบัญชีประเภทอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบรุนแรงอาจมีผลให้โครงการส่วนใหญ่พ้นจากการทำเอชไอเอก็ตาม แต่เป็นไปได้ที่อาจถูกหยิบยกมาตรา 11 ขอให้มีการทำเอชไอเอก็ได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินเอชไอเอรวมถึงกำหนดคณะบุคคลที่จะเป็นผู้พิจารณาผลการประเมิน

ปตท.เตรียมสรุปยื่นอุทธรณ์มาบตาพุดสัปดาห์หน้าเพราะไม่แน่ใจว่าจะบินเดี่ยวยื่นเองหรือควรจะยื่นร่วมกับรายอื่น   หลังจากที่องค์กรภาครัฐ 8 องค์กรได้ยื่นอุทธรณ์และศาลปกครองสูงสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะรับคำอุทธรณ์หรือไม่      หากการยื่นอุทธรณ์ไม่เป็นผล ก็จะกระทบกับแผนลงทุน 5 ปีของ ปตท.ที่ได้กำหนดวงเงินลงทุนไว้ประมาณ 2.3 แสนล้านบาทโดยเฉพาะโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 6 และ LNG Receiving Terminal ที่กำลังเดินหน้าก่อสร้างและยังมีผลไปถึงโครงการเกี่ยวเนื่องวางท่อก๊าซเส้นที่ 4 (ระยอง-สระบุรี)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังระบุว่าในระหว่างที่รอการแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงต้องออกระเบียบควบคุมดูแลโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ เพื่อปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งหากอุตสาหกรรมรายใดปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวแล้วก็จะสามารถกลับมาดำเนินการต่อไปได้และรัฐบาลก็ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการดูแลสิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ    แต่อย่างไรก็ดีรายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับร่างระเบียบสำนักรัฐมนตรีว่าด้วยการพิจารณาอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ พ.ศ... ซึ่งเป็นร่างระเบียบที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอครม.นั้น ไม่ผ่านการพิจารณา  

ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรมและหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินได้รายงานผลการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้คัดค้านการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.กลุ่มที่มีนัยยะและหวังผลทางการเมือง 2. กลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อนจริง ๆ และ 3.กลุ่มนักประท้วงมืออาชีพโดยประเมินว่าเฉพาะกลุ่มที่ 3 นี้มีเงินเพื่อมาประท้วงโดยเฉพาะ

นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์นายกสภาทนายความฯ และคณะเปิดแถลงข่าวกรณีคดีช่วยเหลือประชาชนชาวบ้านอำเภอมาบตาพุด และออกแถลงการณ์เพื่ออธิบายวิธีการดำเนินการในศาลปกครองกับเพื่อไม่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นการก้าวล่วงดุลพินิจของศาลในคดี   ผู้ฟ้องคดีจำเป็นต้องรวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายประกอบการยื่นคำฟ้อง   ในอ.มาบตาพุด อ.บ้านฉาง และบริเวณใกล้เคียงจังหวัดระยองได้ถูกปล่อยปละละเลยและสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ ดิน น้ำ และการปล่อยสารมีพิษต่าง ๆ ในรูปของขยะและควันพิษเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้วแต่ก็มีการเพิกเฉยและไม่ได้มีการบังคับอย่างจริงจังตลอดมา   รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 67 ซึ่งเป็นบทกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ต้องจัดทำหรือปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันแถลงนโยบายแต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ    ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 ประกาศใช้แล้ว 73 โครงการที่ถูกสั่งระงับนี้ได้รับอนุญาตที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนและจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อนจากผู้ถูกฟ้องคดี   สภาทนายความขอเรียนว่า
ผลกระทบจากการลงทุนทั้ง 76 โครงการที่อ้างว่าจะทำให้มีการถอนการลงทุนย้ายไปประเทศเพื่อนบ้านจะทำให้การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลงหรือทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศลดลงประมาณร้อยละ 1.7 รวมทั้งจะมีการลดการจ้างงานลงจากที่ประมาณการไว้ 100,000 คนก็ดีนั้นคงเป็นแต่เพียงการสร้างกระแสเพื่อให้มีกรณีที่ข้อเท็จจริงที่จะใช้เป็นข้ออ้างซึ่งไม่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดีที่มุ่งประสงค์จะออกมาโต้แย้งให้ความเห็นในทางที่สร้างความเสียหายแก่ดุลยพินิจของศาลในคดี ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ควรนำข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาใช้เป็นการประชาสัมพันธ์ภาคอุตสาหกรรมหรือสร้างความสำคัญทางเศรษฐกิจให้ประชาชนเข้าใจผิด     อยากให้หยุดพูดหรือให้ความเห็นที่ออกมาบอกว่าเงินลงทุนเป็นแสนล้าน จ้างงานนับหมื่นคนต้องหยุดนั้นควรต้องชี้แจงด้วยว่าโครงการส่วนใหญ่ทั้งหมดเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเป็นเวลา 8 ถึง13 ปีซึ่งควรจะนำสิทธิประโยชน์ที่ได้ไปสร้างความสมดุลให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ใช่ไปสร้างความทุกข์ให้กับประชาชนที่ต้องทนทุกข์ทรมาน   กรณีที่เอกชนไม่หยุดการก่อสร้างก็สามารถทำได้แต่จะประกอบกิจการหรือทดสอบการเดินเครื่องโรงงานที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่ได้จนกว่าจะดำเนินการให้ครบถ้วนตามมาตรา 67 วรรค 2 เสียก่อนแต่พวกเขาก็ต้องกล้ารับเขาก็ต้องยอมรับความเสี่ยงด้วยว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะดำเนินการได้หรือไม่เมื่อเข้าสู่กระบวนการทำ HIA, ประชาพิจารณ์และองค์กรอิสระแล้วไม่ผ่าน  ภายใน 15 วันหลังศาลฯ มีคำสั่งศาลจะออกหมายบังคับตามคำสั่งศาลแจ้งไปยังหน่วยงานผู้ถูกฟ้องเพื่อให้ออกคำสั่งระงับโครงการไปยังเอกชนเพื่อให้กลับมาดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ให้ครบถ้วนคือต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA), ประชาพิจารณ์

นายกิตติศักดิ์ ปรกติอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่าการที่โครงการมาบตาพุดถูกคำสั่งศาลปกครองกลางชะลอการลงทุนไม่ถือว่าเป็นปัญหามาจากความไม่ชัดเจนของรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 แต่เป็นปัญหาที่การบังคับใช้กฏหมายของเจ้าหน้าที่ไปจนถึงรัฐมนตรีไม่มีความชัดเจนและองค์กรอิสระให้ความเห็นว่าดำเนินการได้  หากหน่วยงานผู้ถูกฟ้องไม่กระทำตามคำสั่งศาลจะมีโทษถึงขั้นจำคุกฐานละเมิดอำนาจศาล   เจ้าหน้าที่นั้นหลายคนมีปัญหาถูกเงินง้างจนไม่ทำหน้าที่ใช้กฏหมายปัดเป่าปัญหาให้กับประชาชนทำให้ในพื้นที่เกิดความแตกแยกไม่สงบสุข ดังนั้นความเสียหายทางเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทหน่วยงานรัฐจึงต้องรับผิดชอบ  

นายเดชรัตน์ สุขกำเนิดอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าเงินลงทุน 4 แสนล้านบาทที่อ้างว่าหายไปกับคำพิพากษาฯนั้น จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยทั้งหมดเพราะจากการศึกษาพบว่าไทยได้ประโยชน์ร้อยละ 50 เท่านั้นดังนั้นภาครัฐไม่ควรโยนความผิดให้กับคนในชุมชนจนกลายเป็นผู้ร้าย   การที่รัฐบาลผลักดันพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่เข้าครม.นั้นเป็นที่น่าห่วงใยว่าการที่ร่างกฎหมายให้อำนาจรมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯถอดผู้บริหารองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมได้ซึ่งทำให้องค์การอิสระขาดความเป็นอิสระ

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเรียกร้องให้รัฐบาลทำภารกิจเร่งด่วนในการตัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมที่ประกอบด้วยตัวแทน ทุกภาคส่วน และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดและบริหารจัดการกรณีมาบตาพุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 อย่างเคร่งครัด รวมทั้งนำร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฉบับของกระทรวงทรัพยากรฯ และฉบับของภาคประชาชนเข้าสภาเพื่อประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็ว

ภาคเอกชนได้ประชุมหารือกันในกรณีปัญหาโครงการลงทุนที่มาบตาพุดแต่หลังประชุมไม่มีใครให้สัมภาษณ์เพราะเกรงจะมีปัญหาข้อกฎหมายหลังจากทางสภาทนายความฯ ออกแถลงการณ์เตือนระวังการให้ความเห็นโต้แย้งคำสั่งศาล   ภาคเอกชนเตรียมเสนอขอความชัดเจนเรื่องการดำเนินงานของภาคเอกชนใน 76 โครงการที่ถูกระงับจากคำสั่งศาลปกครองกลางโดยเฉพาะโครงการที่อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตก่อสร้างและประกอบกิจการเนื่องจากหากหน่วยงานรัฐไม่กล้าออกใบอนุญาตก็เท่ากับโครงการต้องหยุดเช่นกัน

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและเพื่อนได้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีนายชาญชัย  ชัยรุ่งเรืองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกับหัวหน้าหน่วยงานรัฐและผู้บริหารนิคมฯเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ปล่อยให้มีการก่อสร้างโรงงานต่อถือเป็นการละเมิดคำสั่งศาล  เนื่องจากนายชาญชัยให้สัมภาษณ์ระบุจะไม่หยุดดำเนินการโครงการและไม่มีอำนาจสั่งให้หยุด แม้มีคำสั่งศาลออกมาแล้วและโรงงานยังไม่ได้รับใบอนุญาต แต่ยังดำเนินการก่อสร้างต่อ

นายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างแก้ไขตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ..... เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 มาตรา 46 วรรค 2 และมาตรา 51 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยยึดร่างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้ความเห็นเบื้องต้นไว้         แต่เนื่องจากความเห็นของกฤษฎีกาที่นำเสนอไว้มีความเห็นต่างจึงต้องปรับแก้บางส่วนเพื่อให้องค์ประกอบ 3 ด้านหลักมีความครบถ้วนแล้วคาดว่ากฎหมายจะผ่านสภาได้เร็วที่สุดช่วงเดือนพฤษภาคม 2553

สถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมโรงงานได้ร่วมดำเนินการร่าง พ.ร.ฎ.ภาษีมลพิษทางอากาศภายใต้ร่างพ.ร.บ.เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว   สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนที่จะให้มีกองทุนมาช่วยผ่อนปรนภาระของภาคเอกชนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมนั้นก่อให้เกิดคำถามตามมาว่าเงินกองทุนจะมาจากไหนทำไมต้องเอาภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายในเรื่องที่ภาคเอกชนต้องดูแลตัวเองอยู่แล้ว

การบริหารประเทศขาดความต่อเนื่อง ข้าราชการเกียร์ว่าง ละเลยปฏิบัติหน้าที่ แต่เหตุผลลึกๆ แล้วข้าราชการเหล่านี้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเพราะกลัวสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ ในกฎหมายรัฐธรรมนูญระบุชัดให้ตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาดูแล และเหนือสิ่งอื่นใดหากประเทศไทยไม่มีระบบใต้โต๊ะวิกฤตมาบตาพุดก็คงไม่รุนแรงอย่างวันนี้ ทุกฝ่ายต้องหาทางออกร่วมกันไม่ใช่แค่การบังคับใช้กฎหมายแต่ยังมีทางออกอื่นๆ มากมาย     ปัญหามาบตาพุดจึงไม่ใช่แค่เอาหรือไม่เอาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เลือกแค่การลงทุนกับคุณภาพชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง    ทุกฝ่ายต้องหาจุดสมดุล ระหว่างอุตสาหกรรมกับสิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกันโดยไม่ขัดแย้ง  ประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างนี้ทั้งนั้นแต่เขาก็สามารถก้าวข้ามมันได้    โรงงานจำนวนไม่น้อยลักไก่แค่ได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารก็ลุยทันทีทั้งๆที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบการที่จะมาพร้อมกับมาตรฐานอีไอเอแต่พอถูกฟ้องให้ระงับกลับยกมาเป็นข้ออ้างว่าจะทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ      ปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานด้านสุขภาวะโดยเร่งด่วน โปร่งใส ชัดเจน ขณะเดียวกันต้องทบทวนนโยบายในอดีตที่สนับสนุนให้การลงทุนกระจุกตัวในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในอนาคตจะต้องกระจายการลงทุนไปในพื้นที่ต่างๆ อย่างเหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงด้านมลพิษ   ปรากฏการณ์นี้สะท้อนจากโรงงานในมาบตาพุดทุกโรงผ่านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมหมดแต่พอมารวมกันกลับสูงกว่ากำหนดนั่นแสดงว่าเมื่อโรงงานเดินเครื่องพร้อมๆ กันจะทำให้ค่ามลพิษเกินมาตรฐาน

แม้สิ่งแวดล้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์และเป็นระบบธรรมชาติที่เกื้อหนุนการดำรงชีพอยู่ทุกวันทุกเวลาแต่มนุษย์เรากลับให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น  ปัญหาปากท้องมักเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสำคัญมากที่สุด ประเด็นสิ่งแวดล้อมมักจะเป็นประเด็นสำคัญลำดับสุดท้ายเสมอ เพราะผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมักจะใช้เวลาในการสะสมยาวนานกว่าจะรู้ตัวก็แก้ไขไม่ทันหรือกว่าจะรู้ตัวก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการแก้ไขหรือต้องรอจนเกิดความขัดแย้ง เผาโรงงานหรือใช้คำสั่งศาลระงับการดำเนินการ ภารกิจเร่งด่วนสำหรับรัฐในเวลานี้นอกจากจะต้องเร่งทำ HIA แล้วยังต้องเร่งบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ที่เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติฉบับนี้โดยด่วนที่จะได้กำหนดให้นำเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษีเข้ากองทุนเพื่อใช้ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและชุมชนซึ่งเงินที่จัดเก็บได้จะไม่กลับไปที่กระทรวงการคลัง  และผู้ที่ก่อมลพิษน้อยก็จ่ายภาษีน้อย   ในการเดินวิธีนี้จะทำให้โรงงานมีความพยายามที่จะลดการปล่อยมลพิษให้น้อยลง

หุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีได้รับผลกระทบจากกรณีมาบตาพุดทำให้หลายโครงการมีการดำเนินการล่าช้ากระทบกับการเติบโตรายได้และกำไรในอนาคต ธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยสินเชื่อก็อาจระงับวงเงิน  ผู้รับเหมาฟ้องร้องโครงการที่ทำสัญญากับผู้รับเหมาแล้วหากต้องหยุดจากคำสั่งศาล  ผู้ลงทุนบางรายอาจตัดสินใจขายทิ้งตราสารหนี้ด้วยเหตุที่ถูกระงับลดความน่าเชื่อถือและกระทบต่อความเชื่อมั่น   นักวิเคราะห์แต่ละค่ายต่างประเมินผลกระทบขณะที่การประมาณการความเสียหายจากของกลุ่มปตท.ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีมาบตาพุดแตกต่างกันออกไป  บางแห่งมองว่าหากโครงการล่าช้าไป 1 ปีอาจจะทำให้รายได้และกำไรลดลงแต่หากจบเร็วกว่าที่คาดก็จะทำให้ผลกระทบต่อรายได้และกำไรลดลง   ขณะที่บางแห่งคำนึงถึงมูลค่าทางสังคม   ถึงแม้ว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนถึงจะถูกทำลายลงไปบ้างแต่ก็เป็นนักลงทุนประเภทที่ไม่แคร์ว่าผลกระทบจากการผลิตของตนจะทำร้ายคนอื่นอย่างไร  เรามีนักลงทุนประเภทนี้อยู่แยะแล้วทำลายความเชื่อมั่นของคนเหล่านี้ลงเสียบ้างก็ดี

ไม่มีใครอยากขวางการพัฒนา แต่สิ่งที่เขาเรียกร้องคือการพัฒนาที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มงวดมากกว่านี้ไม่มีใครอยากจะได้การพัฒนาที่เห็นแก่ตัว มักง่าย คำนึงแต่กำไร และ ผลประโยชน์ของนายทุนเพียงอย่างเดียว ทำกำไรให้นายทุนอย่างมากมายในวันนี้  สักแต่ลงทุน  จะสร้างโรงงานที่ลดต้นทุนที่สุดเพื่อกำไรเท่านั้นเอง  พอมีคนได้รับผลกระทบยังจะมาอ้างกฏหมายได้อีก ทำลายชีวิตคนสืบไปจนวันตายแล้วยังไม่สำนึกด้วยซ้ำว่า โรงงานในมาบตาพุดนั่นเป็นเหตุให้พวกเขาต้องทุกข์ ทรมาน

แม้จะมีการอ้างถึงเม็ดเงินลงทุน 76 โครงการมูลค่า 400,000 ล้านบาทจริงๆไม่ได้หมายถึงมูลค่าผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับเพียงแต่รวมเอามูลค่าของเครื่องจักร วัตถุดิบ ค่าเทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งมีการซื้อนำเข้ามาจากต่างประเทศเอาไว้ด้วย    หากต้องหยุดลงทุนในโครงการดังกล่าว 1 ปีประเมินว่าจะกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) ถึง 0.4% อาจมองว่าเป็นตัวเลขที่สูง แต่ในความเป็นจริงแล้วผลประโยชน์ที่ประชาชนของเราจะได้รับจากการลงทุนในโครงการเหล่านี้ไม่ได้มีมูลค่าเท่ากับ 400,000 ล้านบาท   ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจริงๆ ก็คือการจ้างงาน ค่าภาษี ฯลฯ (76 โครงการนี้จะมีการจ้างงาน 35,000 คน) แลกกับต้นทุน ของเสีย มลพิษที่การผลิตอุตสาหกรรมเหล่านี้ทิ้งไว้ให้  หากมีปัญหาในเชิงนโยบายสาธารณะที่จะต้องเลือกระหว่างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกับมีผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพของคนเราก็จะต้องเลือกรักษาสุขภาพของคนเอาไว้ก่อน   ชัดเจนว่าเรายินดีต้อนรับการลงทุนแต่เราไม่ต้องการการลงทุนที่ไม่คุ้มค่ากับชีวิตของคนของเราแบบนี้

ถ้าดัชนีจีดีพีขึ้นแต่ดัชนีความสุขของคนไทยลด GDP 0.4% หายไปใน 1 ปีนั่นแลกกับชีวิตชาวบ้านเป็นพันๆคนรัฐบาลจะเลือกใคร ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สะสมพอกพูนมากขึ้นทุกวันและดูเหมือนไม่มีมาตรการที่เห็นผล คนมาบตาพุดไม่ใช่คนไทยหรือไร จีดีพีมันจะบวกมากหรือติดลบรายได้ของชาวบ้านอย่างเราๆก็เท่าเดิม ถ้าทำโรงงานสะอาดไม่ได้ก็อย่ามีโรงงาน  ถ้าปตท.มันจะเจ๊งก็ปล่อยมันเจ๊งไป     รัฐบาลและกลไกภาครัฐทั้งหลายควรจะเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่ต่อชีวิตของชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่มาบตาพุดอยู่จริงๆ ไม่ใช่ไปแก้ปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย  ไม่ต้องไปถามผู้เชี่ยวชาญอะไรที่ไหน  แค่ถามตัวเองด้วยสามัญสำนึกว่า ปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดมีอยู่จริงไหมเพราะการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดขยายตัวเติบโตเรื่อยมา ส่งผลกระทบต่อทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคน สะสมมากขึ้นเป็นลำดับกระทั่งถึงขั้นที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของคนอย่างร้ายแรง   มีสารอินทรีย์ระเหยมากกว่า 40 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็งถึง 20 ชนิด โดยที่ 19 ชนิดมีค่าสูงเกินระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศ    คุณภาพของน้ำและแหล่งน้ำในพื้นที่มาบตาพุดอยู่ในระดับเสื่อมโทรม สีดำคล้ำ กลิ่นเหม็น พบการปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด   คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง คุณภาพน้ำบาดาลและบ่อน้ำใต้ดินระดับตื้น ส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน พบการปนเปื้อนโลหะหนักเกินมาตรฐาน คือมีสังกะสี แมงกานีส สารหนูและพบสารอินทรีย์ระเหยง่ายเกินมาตรฐาน

ชาวบ้านต้องต่อสู้เรียกร้องมาถึง 4 รัฐบาลนายสุทธิ อัชฌาศัยบอกชาวบ้านเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งไปแล้ว 6 ราย    ตัวเลข 6 รายนี่สูงกว่าตัวเลขจีดีพีที่รัฐอยากได้เสียอีก

ถ้าข้อดีในการลงทุนในประเทศไทยมีอยู่เพียงเราปล่อยให้นักลงทุนทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้ตามใจชอบ เรามีแรงงานซึ่งถึงได้ค่าแรงแพงกว่าเพื่อนบ้านแต่รัฐไทยไม่คุ้มครองคนเหล่านี้มากนัก ในขณะที่ไม่คุ้มครองประชาชนในพื้นที่ซึ่งไม่ได้อยู่ในโรงงานด้วยฉะนั้นนักลงทุนจะฟันกำไรไปได้มากอย่างง่ายดาย  เสน่ห์ของไทยในฐานะแหล่งลงทุนนั้นมีไม่น้อยไม่น่าจะชูเรื่องพวกนี้มาเป็นจุดขายซึ่งอาจจะกลับกลายมาเป็นจุดตายของเราในภายหลังได้ง่ายๆ  ไม่ควรปล่อยให้ผู้คนในประเทศตกเป็นทาสของนักลงทุนเพียงอย่างเดียว    ไม่เชื่อหรอกว่าหากโครงการเหล่านี้เริ่มดำเนินงานได้แล้วจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในพริบตา ปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นนั้นมีมากและสลับซับซ้อนแถมส่วนใหญ่ยังเป็นปัจจัยภายนอกเสียอีก



ไม่มีความคิดเห็น: