|
สถิติที่น่าสนใจในศาลโลกคือมี 17
คดีที่ศาลโลกรับเอาไว้พิจารณาในเรื่องมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งมี 10
คดีที่ศาลโลกออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ซึ่ง 10 คดีนั้น “ไม่มีแม้แต่คดีเดียว”
ที่มีประเทศต่างๆได้ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่ศาลโลก
ดังนั้นถ้าหากประเทศไทยพร้อมและเดินหน้าในการปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่ศาลโลกได้กำหนดมาครั้งนี้จะถือได้ว่า...
“เป็นชาติแรกในโลกที่(แกล้ง)โง่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก”
เพราะหากไทยยอมบ้าจี้(แกล้ง)โง่ปฏิบัติตามมติของศาลโลกด้วยการถอนทหารออกจากพื้นที่ซึ่งกำหนดโดยศาลโลกเมื่อใด
ผลที่ตามมาจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเสียดินแดนโดยนิตินัย(จากเดิมซึ่งเสียดินแดนในทางพฤตินัยไปแล้ว)
ดังต่อไปนี้ 1.
เท่ากับว่าฝ่ายไทยและกัมพูชายอมถอยทหารออกจาก “แผ่นดินไทย” โดยฝ่ายไทยยอมถอยไป
“มากกว่า” แผนที่มาตราส่วน 1:200,000
ซึ่งจัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว
อันเป็นการถอยเกินไปมากกกว่าที่รัฐบาลเรียกว่า ”พื้นที่พิพาท” ซึ่งรวมถึง สระตราว,
สถูปคู่, ผามออีแดง, และภูมะเขือ
ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่อยู่ในแผ่นดินไทยทั้งสิ้น 2.
หากทหารไทยและทหารกัมพูชายอมถอยออกจากแผ่นดินไทย ก็จะเท่ากับว่าชุมชน สิ่งปลูกสร้าง
ของกัมพูชา สามารถยังคงรุกรานและยึดครองแผ่นดินไทยได้ต่อไป
โดยที่ฝ่ายไทยไม่สามารถใช้กำลังทหารผลักดันใดๆได้อีก
ซึ่งบังเอิญอย่างร้ายการที่ตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวครั้งนี้
มีความเลวร้ายยิ่งกว่า“ร่างข้อตกลงชั่วคราว”
ซึ่งแนบอยู่ในบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี)
ซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะพยายามมาหลายครั้งที่จะขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ตั้งแต่ปี 2552
แต่บังเอิญว่าประชาชนรู้เท่าทันเสียก่อน โดยในร่างข้อตกลงชั่วคราวในข้อที่ 1
ระบุว่า “คู่ภาคีจะไม่คงกำลังทหารของแต่ละฝ่ายในวัด
“แก้วสิขาคีรีสะวารา” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “วัด”) พื้นที่รอบวัดและพื้นที่
(ไทย-ปราสาท) (กัมพูชา-ปราสาทเปรียะวิเฮียร์) (พระวิหารในภาษาไทย)
แม่ทัพภาคที่สองของกองทัพบกไทยและผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 4
ของกองทัพกัมพูชาจะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมรร่วมกันเพื่อปฏิบัติให้ข้อบทนี้มีผล
โดยฝ่ายชุดทหารติดตามสถานการณ์ชั่วคราวของแต่ละฝ่าย” 3.
ฝ่ายไทยจะถูกห้ามไม่ให้ขัดขวางการเข้าไปยังปราสาทพระวิหาร
หรือขัดขวางการส่งบำรุงให้แก่บุคคลกรที่ไม่ใช่ทหาร
นั่นหมายถึงต้องปล่อยถนนที่สร้างรุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทยให้เป็นเส้นทางลำเลียงของกัมพูชาต่อไป
ชุมชนกัมพูชาย่อมสามารถขยายชุมชนต่อไปได้เรื่อยๆ
อีกทั้งจะมีทหารอีกจำนวนมากสามารถเปลี่ยนชุดเป็นพลเรือน เป็นพระสงฆ์
โดยที่ฝ่ายไทยทำอะไรไม่ได้ตรวจสอบก็ไม่ได้
และจะทำให้เปิดเป็นพื้นที่ให้กับนักท่องเที่ยวเข้าปราสาทพระวิหารเข้ามาจากฝั่งกัมพูชาและใช้ถนนซึ่งรุกล้ำเข้ามาในเขตไทยได้อีกด้วย จึงย่อมเท่ากับศาลโลกใช้มาตรการคุ้มครองชั่วคราวสนับสนุนการที่กัมพูชาละเมิด
บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 MOU
2543 โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างเต็มรูปแบบ 4.
หากไทยยอมให้อาเซียนส่งผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซีย
เข้ามาในพื้นที่ย่อมเท่ากับมีชาติที่สามเข้ามาแทรกแซงอธิปไตยของชาติ
ด้วยการเข้ามาเป็นสักขีพยานในการห้ามมีการปะทะต่อกัน
จึงย่อมเท่ากับมีชนชาติอื่นเข้ามาเป็น
“กันชน”ห้ามทหารไทยผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย
ซึ่งเป็นการเรียกร้องโดยฝั่งกัมพูชามาโดยตลอด 5.
หากไทยยอมถอนทหารออกจาก “แผ่นดินไทย”
ตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวจะทำให้กัมพูชาสามารถเดินหน้าต่อไปในเวทีมรดกโลกได้
โดยปราศจากการขัดขวางจากทหารไทยอีกต่อไป
อันรวมถึงการที่ยูเนสโกจะส่งคนเข้าไปยังปราสาทพระวิหารโดยอาศัยถนนที่สร้างจากบ้านโกมุยรุกเข้ามาในดินแดนไทยเพื่อดำเนินการ
ป้องกัน อนุรักษ์ บูรณะ และปฏิสังขรณ์ปราสาทพระวิหาร
อันอาจรวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเพื่อการรองรับแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารต่อไปในอนาคตได้
และทำให้พื้นที่รอบปราสาทพระวิหารซึ่งเป็น “มรดกโลกอันตราย”
ซึ่งเดิมไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการได้
จะกลายเป็นพื้นที่สันติภาพโดยมีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกและผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียเป็นเครื่องมืออันสำคัญที่จะเป็นหลักประกันให้กัมพูชาเดินหน้าต่อไปในมรดกโลกได้ 6.
หากไทยยอมปฏิบัติตามมติศาลโลก อาจถูกตีความได้ว่า “ไทยรับอำนาจศาลโลก”
และจะยินยอมให้มีการตัดสินตามที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นการตีความคำพิพากษาศาลโลก พ.ศ.
2505 ให้ขยายขอบเขตไปมากกว่าการตัดสินว่า
“ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา”
หมายความว่าประเทศไทย “เปลี่ยนจุดยืน”
สำคัญจากเดิมที่ฝ่ายไทยได้ตั้งข้อสงวนสิทธิ์ต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เมื่อ
พ.ศ. 2505 ว่าไม่เห็นด้วย คัดค้าน
ประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลโลกที่ยกปราสาทพระวิหารให้อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา
และขอสงวนสิทธิ์ในการทวงคืนปราสาทพระวิหารในอนาคต
และประเทศไทยไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับอำนาจศาลโลกโดยบังคับมา 50 ปีแล้ว
กลายมาเป็นว่าฝ่ายไทย “ยอมรับ”คำตัดสินเมื่อปี พ.ศ. 2505
จึงพร้อมที่จะน้อมรับและยอมรับในการตีความให้ขยายขอบเขตไปมากกว่าเดิมด้วย
โดยมีจุดเริ่มต้นด้วยการแสดงออกว่า
“ยอมรับและปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก”
เมื่อฝ่ายไทยไม่ยืนหยัดต่อการ คัดค้าน ประท้วง และสงวนสิทธิ์
ต่อคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 ที่ได้ยื่นเอาไว้ต่อองค์การสหประชาชาติแล้ว
ก็ย่อมต้องถูกตีความว่าไทยไม่ยืนหยัดต่อการปฏิเสธในเนื้อหาที่ว่า
“กฎหมายปิดปากที่ไทยไม่ได้ปฏิเสธแผนที่มาตราส่วน 1:200,000
ซึ่งเป็นมูลฐานสำคัญในการตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505” ด้วยเช่นกัน ทั้งๆ
ที่ไทยได้คัดค้าน ประท้วง สงวนสิทธิ์
เอาไว้เพราะศาลโลกไม่ยอมกล่าวถึงและพิพากษาประเด็นที่ไทยหยิบขึ้นมาต่อสู้อย่างอยุติธรรมในการใช้กฎหมายปิดปากโดยไม่สนใจเรื่องอื่น
เช่น ศาลโลกไม่พิจารณากรณีแผนที่ทำผิด
ศาลโลกไม่กล่าวถึงผลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันเส้นสันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผา
ศาลโลกไม่ยอมวินิจฉัยบันทึกของฝรั่งเศสที่ระบุว่าขอบหน้าผาคือสันปันน้ำและเส้นเขตแดนในบริเวณทิวเขาดงรัก
ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แปลว่าหากปล่อยให้
ศาลโลกวินิจฉัยตีความคำพิพากษาศาลโลก พ.ศ. 2505
ย่อมเกิดความเสี่ยงที่จะใช้การอ้างอิงกฎหมายปิดปากที่ไทยไม่ปฏิเสธแผนที่มาตราส่วน
1: 200,000 ซึ่งเป็นมูลฐานในการตัดสินคดีปราสาทพระวิหารเมื่อ พ.ศ. 2505
อีกครั้งหนึ่งแล้ว
ก็ยังอาจถูกอ้างอิงจากพฤติกรรมของรัฐบาลในการยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000
ของฝ่ายไทยอีกด้วย เช่น จากเอกสาร
บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 หรือ
MOU 2543 ข้อ 1 (ค.), จากการไม่ทักท้วงในเวทีคณะกรรมการมรดกโลก,
และบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี)
ฯลฯ การยอมรับอำนาจศาลโลกให้ตีความเช่นนี้ จึงย่อมมี
“ความเสี่ยงสูงมาก”
เพราะศาลโลกมีแนวโน้มที่จะตีความและพิพากษาให้เป็นคุณต่อกัมพูชาและเป็นโทษกับฝ่ายไทย 7.
หากไทยแพ้ที่ศาลโลกก็จะแพ้ต่อที่มรดกโลก
โดยดูจากสัญญาณการลุแก่อำนาจออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวในการตีกรอบให้ถอนทหารทั้งสองฝ่ายออกจาก
“แผ่นดินไทย” หากศาลโลกมีคำตัดสินให้ “เป็นคุณ”กับฝ่ายกัมพูชาเมื่อใด
มรดกโลกปราสาทพระวิหารก็จะสามารถเดินหน้าผ่านฉลุยต่อไปโดยไม่ต้องสนใจประเทศไทยว่าจะถอนตัวหรือไม่
เพราะถือว่าอยู่ในอาณาเขตของกัมพูชา 8.
ความผิดพลาดในการวางกลยุทธ์ความสัมพันธ์ไทยกับนานาชาติ
โดยเฉพาะกับประเทศสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ไทยเสื่อมถอยความสัมพันธ์กับจีน และรัสเซีย ฝรั่งเศสยืนอยู่ข้างกัมพูชาเต็มตัว ส่วน
สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ อยู่บนผลประโยชน์ทางพลังงานเป็นหลักสำคัญ
ไทยจึงอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบกัมพูชาในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจากนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
ถือเป็นจุดที่มีความน่าเป็นห่วงที่สุดในขณะนี้
ทำให้กัมพูชากลายเป็นชาติที่มีพวกมากกว่าฝ่ายไทยในเวทีนานาชาติ 9.
การที่ฝ่ายไทยยืนยันที่จะเลือกใช้เครื่องมือ MOU 2543 เพื่อใช้ในการอ้างว่า
ไทย-กัมพูชากำลังตกลงกันเรื่องเขตแดนกันเอง
เป็นผลทำให้ไม่สามารถยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเองให้ชัดเจนได้,
ทำให้ไม่สามารถอ้างข้อสงวนสิทธิ์ของไทยต่อคดีปราสาทพระวิหารได้,
ในขณะที่กัมพูชาอาศัย MOU 2543 ในการอธิบายว่าไทยและกัมพูชาต้อง “ทำหลักเขตแดน”
ในการปักปันซึ่งเสร็จสิ้นแล้วตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000
โดยการอ้างอิงคำพิพากษาศาลโลก การต่อสู้เช่นนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า MOU 2543
ช่วยอะไรไม่ได้ในเวทีมรดกโลก(ไทยจึงต้องประกาศลาออกจากภาคีมรดกโลก) และ MOU 2543
ก็ช่วยอะไรไม่ได้ในศาลโลกจนศาลโลกออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้เป็นคุณต่อฝ่ายกัมพูชาอยู่ในขณะนี้
หากปล่อยให้มีคำตัดสินตีความคำพิพากษา พ.ศ. 2505
ไทยจึงมีแนวโน้มสูงที่จะพ่ายแพ้ต่อกัมพูชาในท้ายที่สุด 10.
ทหารและตุลาการไม่ทำหน้าที่ ทหารซึ่งมีจอมทัพไทยเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และศาลก็กระทำการในพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กับอ่อนแอไม่ใช้อำนาจและทำหน้าที่ของตัวเองในการปกป้องแผ่นดิน
ทหารบางคนกลับยอมจำนนต่อฝ่ายการเมืองพร้อมทำตามนโยบายนักการเมืองอย่างไม่ลืมหูลืมตา
บ้างก็ได้ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ
จนปล่อยให้แผ่นดินไทยถูกรุกรานและยึดครองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ในขณะที่คดีความขึ้นสู่องค์กรอิสระและศาลหลายคดีเกี่ยวกับเขตแดนหลายคนกลับขาดความกล้าหาญ
เพิกเฉยปัดความรับผิดชอบ ไม่อยากข้องเกี่ยว
อย่างน่าหดหู่ยิ่งนัก
หนทางที่ประเทศไทยจะรอดจากสถานการณ์นี้มีเพียง 3
ประการเท่านั้นคือ ประการแรก ประกาศไม่รับอำนาจศาลโลก
ยืนยันว่า ไทยได้คัดค้าน ประท้วง และตั้งข้อสงวน
ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505
เมื่อคดีนี้ถูกระบุในใบแจกข่าวของศาลโลกว่าเป็นคดีใหม่ ไทยจึงมีสิทธิ์ไม่ยอมรับ
อีกทั้งประเทศไทยก็ไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับการบังคับอำนาจศาลโลกมานาน 50
ปีมาแล้ว ประการที่สอง
ไม่ถอนทหารออกจากแผ่นดินไทยโดยเด็ดขาด
และเร่งผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย ประการที่สาม
ปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเร่งด่วน
สามประการนี้ดูจะเป็นความหวังลมๆแล้งๆ เพราะรักษาการนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์
ต่างออกมาแสดงความเห็น “พอใจ”กับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก
อีกทั้งว่าที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ดูจะเห็นดีเห็นงามกับเรื่องความสัมพันธ์กับกัมพูชามากกว่าการที่แผ่นดินไทยถูกรุกรานและยึดครอง
เมื่อประชาชนตาดำๆ สองมือเปล่า ไม่มีปืน ไม่มีอำนาจรัฐ ไม่มีอำนาจตุลาการ
ไม่สามารถหวังได้กับนักการเมือง และพึ่งไม่ได้กับทหารภายใต้จอมทัพไทย
และพึ่งไม่ได้กับศาลซึ่งกระทำในพระปรมาภิไธย
แม้แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่สนใจเรื่องแผ่นดิน ก็อดสงสัยไม่ได้
เมื่อ “คนที่มีอำนาจเกือบทั้งหมด” ไม่สนใจใยดี
แล้วจะให้ประชาชนกลุ่มเล็กๆสองมือเปล่า ไปแบกรับห้ามมิให้ราชอาณาจักรไทยเสียดินแดน
หรือจะรักษาอธิปไตยและดินแดนไทยเอาไว้ได้อย่างไร !!? |
|
|
|
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น