สัจธรรมทางการเมืองที่ว่า สำหรับนักการเมืองแล้วไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรมีแต่ผลประโยชน์เท่านั้น เมื่อข่าวปรากฏออกมาว่าทางพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเพื่อนเนวิน จึงทำให้คอการเมืองประหลาดใจ ยิ่งภาพที่อภิสิทธิ์จับมือกับเนวินด้วยแล้วยิ่งเพิ่มความฉงนสนเท่ห์มากยิ่งขึ้น แค่นี้ก็เรียกเสียงโห่ เสียงตำหนิจากกองเชียร์และมีแนวโน้มจะเป็นเป้าของก้อนอิฐจากทั้งฝ่ายเสื้อแดง และ เสื้อเหลืองบางส่วน ในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้แรงกดดันรอบด้านท่ามกลาง“วิ่งยื้อยุดฉุดกระชาก-แก่งแย่ง” พร้อมกับ “กลยุทธ์ทุ่มซื้อตัวส.ส.” อย่างเข้มข้นรุนแรงมากยิ่ง การแบ่งโควตารัฐมนตรีให้แก่พรรคและกลุ่มการเมืองที่มาเข้าร่วมเป็นรัฐบาลอาจจะเป็นแรงกระเพื่อมถ้าจัดสรรไม่ลงตัวเป็นระยะๆตั้งแต่แรกไปเรื่อยๆตามประสา"คน" และประชาธิปัตย์จะเป็นหนี้บุญคุณของพรรคและกลุ่มการเมือง ถ้าสามารถบริหารจัดการประเทศได้ดีในทุกแง่มุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองก็จะเป็นโอกาส แต่ถ้าตรงกันข้ามก็เป็นวิกฤตในทันทีเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต การลุกฮือเล็ก ๆของ ‘เสื้อแดงไร้หัว’ ที่หน้ารัฐสภาฯ เมื่อลงคะแนนเลือกนายกฯ คนที่ 27 เป็นสัญญาณเตือนภัยที่ไม่ควรมองข้าม การที่ต้องเข้ามาบริหารประเทศชาติของรัฐบาลใหม่เป็นทุกขลาภอย่างมากกับ “วิกฤตเศรษฐกิจ” ทั้งจาก “ภายนอก” และ “ภายใน” เอง รัฐบาลจะต้องฟื้นฟู สร้างความเชื่อมั่น กอบกู้ภาพลักษณ์ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการต่างๆ ในการตั้งรับกับ “พายุเศรษฐกิจ” ที่ถึงขั้นถดถอย และทรุดในที่สุด
แทบจะในทันทีที่มีการพลิกขั้วทางการเมืองได้เกิดปรากฏการณ์ของข้าราชการเปลี่ยนสีแบบฉับพลันอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการบางส่วนได้เริ่มปฏิบัติตามข้อเรียกร้องบางส่วนของพันธมิตรฯ ฉ. 29/2551 เมื่อ 12 ธค. 51 มีการเริ่มปฏิบัติตามข้อเรียกร้องโดยที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังไม่ทันจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีเลยด้วยซ้ำไป!
- - - วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ในช่วงเวลาประมาณ 12.00 น. แกนนำพันธมิตรฯ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 29/2551 มีข้อเรียกร้องให้ปลดข้าราชการหลายคนที่รับใช้ระบอบทักษิณ รวมถึงอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พร้อมเสนอให้ถอดรายการความจริงวันนี้ และปฏิรูปสื่อทั้งระบบ
- - - ช่วงเย็นวันเดียวกัน นายสุริยงค์ หุณฑสาร รักษาการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที (ช่อง11) ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าได้ถอดรายการความจริงวันนี้ออกแล้วและได้จัดรายการอื่นมาแทนเพราะมีประโยชน์มากกว่า ทั้งๆ ที่รายการความจริงวันนี้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลที่ทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม โดยไม่มีใครทำอะไรได้ มา 6 เดือนกว่า
- - - วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2551 นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดเผยว่า ได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการถึงบรรณาธิการนิตรสาร ดิ อิโคโนมิสต์กรมสารนิเทศ เพื่อประท้วงเนื้อหาในนิตยสารดังกล่าวฉบับวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ภายหลังจากที่สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีได้ออกอากาศการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ของนิตยสารดังกล่าวในเช้าวันเดียวกัน
- - - วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 กระทรวงการต่างประเทศได้ยกเลิกหนังสือเดินทางทูตของทักษิณแล้วและเตรียมส่งให้กฤษฎีกาตีความต่อในกรณียกเลิกหนังสือเดินทางอื่นๆ ของทักษิณซึ่งเป็นตามข้อเรียกร้องส่วนหนึ่งในแถลงการณ์พันธมิตรฯ ฉบับที่ 29/2551 ลงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2551 และเป็นไปตามที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ ได้มีหนังสือทวงถามและขอให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่ของตัวเองในการเพิกถอนหนังสือเดินทางทุกประเภทของทักษิณเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2551
สิ่งที่ข้าราชการควรจะทำได้และไม่ได้ทำนั้นมีอยู่มากมายในเวลาที่นักการเมืองในระบอบทักษิณปกครองประเทศ และในเวลาที่เกิดสุญญากาศหรือการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เป็นที่น่ายินดีว่าข้าราชการเหล่านี้ก็สามารถปรับเปลี่ยนท่าทีต่อระบอบทักษิณได้อย่างรวดเร็วสมรภูมิอำนาจรัฐ ได้พลิกขั้วทางการเมืองแล้ว ข้าราชการเริ่มเปลี่ยนสีฉับพลัน หลังจากนี้อีกไม่นานข้าราชการที่เป็นทาสรับใช้ระบอบทักษิณก็จะต้องเตรียมถูกโยกย้าย และถูกลงโทษไปเป็นจำนวนมาก สื่อต่างๆเองก็กำลังเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนโดยฉับพลัน ทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุของรัฐ นักวิชาการที่อิงแอบสนับสนุนระบอบทักษิณจำนวนมากถูกจับได้ไล่ทันและกำลังหมดความชอบธรรมลงเรื่อยๆ
1) ในทางการเมือง Change! Change! Change! ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงเราคนไทยพวกเสื้อสีใดก็ตามก็ต้องยอมรับ หากจะแข็งขืนก็จะเป็นการปฏิเสธในสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้แต่สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงก็คือพวกเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เราประชาชนคงต้องการ “การเมืองใหม่” เพื่อเป็นการเปลี่ยนแปลง เนื้อหาของการเมืองใหม่คือการที่ประเทศไทยต้องการแก้ไขปัญหาธุรกิจการเมืองให้ลดน้อยหรือหมดไปจากระบบการเมืองนั่นเอง เราล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอดหลังการใช้การปกครองระบอบนี้ระบบประชาธิปไตยทุนนิยมที่ใช้เงินซื้อทุกอย่างแม้กระทั่งจิตวิญญาณของผู้คนก็เอาทุกอย่างเป็นแค่สัญลักษณ์ เป็นพัฒนาชาติด้วยความอยุติธรรมทำลายระบบคุณค่าของคุณธรรมและความหมายดั้งเดิมที่บรรพบุรุษของพวกเราได้เคยยึดถือกันมาช้านานจนหมดสิ้นด้วยระบบทุน-หนะ-ทำ เราต้องยอมรับว่า “ความสกปรก” ของการเมืองไทยที่ผ่านมา เกิดจาก “เงิน-ทุน” แทบทั้งหมด นักการเมืองเลวบางคนบางกลุ่มที่หวังกอบโกยเพื่อประโยชน์สุขของตนเองและพวกพ้องมากกว่าชาติและประชาชนเป็นวงจรอุบาทว์ โดยมีเราประชาชนที่ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้แต่ประการใด นอกจากนั่งมองตาปริบๆดูพวกนักการเมืองปู้ยี่ปู้ยำประเทศชาติจนบอบช้ำ ซ้ำเติมเราจนจมดิน เราชอกช้ำกับ “ปัญหาธุรกิจการเมือง” มาช้านานจนบางคนซึมซับยอบรับว่าทุจริตประพฤติมิชอบ และ พวกมากลากไป! เป็นเรื่องปรกติไปเสียได้ ระบบการเมืองที่เย้ายวนใจเพราะสามารถที่จะแสวงหาผลประโยชน์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำไม่ต้องกังวลกับการผิดกฎหมายเพราะตนเองเป็นผู้ออกกฎหมายจะผิดได้อย่างไรโดยเผด็จการรัฐสภาทักษิณจึงเป็นรูปแบบที่เป็นรูปธรรมที่ประเทศไทยเผชิญในช่วงที่ทักษิณเรืองอำนาจและได้กลายมาเป็นต้นเหตุของวิกฤตปัญหาบ้านเมืองมาจนถึงปัจจุบัน สื่อสารมวลชนจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาธุรกิจการเมืองเพราะข้อมูลที่ได้รับจะมีผลต่อการตัดสินใจของคน การปฏิรูปสื่อให้มีวิจารณญาณจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะความเป็นกลางมิได้หมายความว่าจะต้องมีเวลาหรือเนื้อข่าวเท่ากันและลอยตัวออกจากประเด็นปัญหาหากแต่ต้องเสนอในสาเหตุของปัญหามิใช่เอาแต่ผลมานำเสนอเช่นการเสนอข่าวความเสียหายจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิจึงเป็นตัวอย่างที่ดีว่าสื่อส่วนใหญ่ในขณะนี้มีวิจารณญาณมากน้อยเพียงใด ทำไมจึงมีคนจำนวนมาก ยอมไปตากแดด นอนบนพื้นถนนแทนที่จะนอนอยู่กับบ้าน ใครเป็นคนสั่ง “ปิด” สนามบิน ทำไมจึงต้อง “ปิด” การเดินทางผู้โดยสารขาเข้าและขาออกทั้งที่มีเครื่องบินบินอยู่บนอากาศ และทำไมต้อง “ปิด” การขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก ทำไม “ไม่เปิด” สนามบินที่ใกล้เคียงเป็นสนามบินสำรองในทันที ใครเคยอ่านพบคำตอบจากคำถามข้างต้นจากสื่อส่วนใหญ่ที่จอมปลอมเหล่านั้นบ้าง?
2) ในด้านเศรษฐกิจ การถดถอยในเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆจากปัญหาการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้กู้ต่ำกว่ามาตรฐานอาจส่งผลกระทบในระยะสั้นให้กับประเทศไทย เศรษฐกิจไทยมีปัญหาที่ได้เริ่มก่อตัวขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดทำให้ชะลอตัวบ้าง ครั้งนี้เรารู้ตัวล่วงหน้าแต่สำคัญว่าจะรับมืออย่างไร การเปลี่ยนแปลงของเราน่าจะหาคนที่เป็น “คนดี” มาร่วมงานได้ง่ายมากขึ้น ในระยะสั้นเราก็ควรจะหยุดคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญสักครู่แล้วหันมาสนใจเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักก่อนจะดีไหม สิ่งที่น่าจะจัดทำเป็นวาระของประเทศเพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวเป็นอย่างเป็นรูปธรรม สังคมไทย ณ วันนี้มาถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจเลือกแล้วว่าจะเดินไปในทิศทางใดแต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมเราจะมี ทุน ปืน และเจ้าที่สามารถเดินเคียงคู่กันไปสู่ความสำเร็จและเราจะสลายขบวนการ “ล้มทุน ล้มปืน ล้มเจ้า”
ที่เป็นต้นตอของปัญหาอันเนื่องมาจากระบอบทักษิณได้
3) ในทางสังคมการใช้ความรุนแรงจากระบอบทักษิณจะต้องเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ ทหาร ตำรวจ และอำนาจสื่อที่เปลี่ยนมือ
ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าระบอบทักษิณกำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์จะต้องรับใช้โอกาสนี้ขย่มวิกฤตระบอบทักษิณให้พังทลายสำเร็จ
รัฐบาลชุดใหม่ต้องไม่ลืมว่าได้เข้าสู่อำนาจเพราะมีประชาชนที่เสียสละชุมนุมมานานถึง 193 วัน ด้วยความอดทน มุ่งมั่น สละกำลังทรัพย์ แรงกาย แรงใจ แม้กระทั่งสูญเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดการยุบพรรคและเปลี่ยนขั้วทางการเมือง หลังจากนี้ประเทศไทยเริ่มเคลื่อนตัวออกจากระบอบทักษิณหลังจากที่หยุดจมปลักมากว่า 7 ปี และอาจเป็นการผ่านเลยไปโดยไม่มีวันหวนกลับมาอีกลาก่อนทักษิณและยินดีต้อนรับอภิสิทธิ์ เราได้เดินทางมาไกลในแบบไทยๆผสมผสานระหว่างประชาธิปไตย ทุน และสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแบบฉบับของเราเอง คำว่าประชาธิปไตยต้องมีจิตสำนึกมิใช่มีแต่เพียงการอ้างสัญลักษณ์บางอย่าง เช่น การเลือกตั้งไม่ได้บอกว่าเรามีประชาธิปไตยแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ของเราก็มิใช่เป็นเพียงแต่สัญลักษณ์หากแต่มีความหมายเพื่อคนทั้งประเทศอย่างที่นักวิชาการบางส่วนที่สายตาคับแคบที่ไม่รู้ดีรู้ชั่วหรือจากสื่อต่างประเทศที่อาจไม่เข้าใจ แต่ถ้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะยังไม่ตระหนักถึงปัญหาวิกฤตของบ้านเมือง ไม่สนใจข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ ไม่ปฏิรูปสื่อ ไม่ปฏิรูปรัฐตำรวจแล้ว ก็อย่าไปหวังว่าจะไปสร้างการเมืองใหม่ได้เลย แม้แต่วิกฤตที่รออยู่ข้างหน้าก็จะข้ามผ่านไปไม่ได้อย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น